วันนี้ (23 ธ.ค.2562) นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและและแผนการขนส่งและจราจร นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. แถลงข่าวการยุติข้อพิพาททางด่วน
ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ข้อสรุปแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยจะขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน ในสัญญาระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (A,B,C) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 29 ก.พ.2563 เป็นสิ้นสุด 31 ต.ค.2578
ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ที่จะสิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย.2570 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C+) ที่จะสิ้นสุด 27 ก.ย. 2569 เป็นสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.2563 เช่นกัน
แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องยุติข้อพิพาทระหว่างกันทั้งหมด ทั้งที่ศาลตัดสินไปแล้วและข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี โดยมีคดีที่ BEM ฟ้องร้องรัฐ 15 คดี ส่วน กทพ. ฟ้องร้อง 2 คดี คิดเป็นมูลค่าหนี้ 137,517 ล้านบาท
จากการเจรจามีเงื่อนไขพิเศษ คือ เสนอขอความร่วมมือเอกชนให้งดเว้นการเก็บค่าผ่านทางด่วนทุกเส้นทาง ในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีตลอดอายุสัมปทาน 15 ปี
แต่การขยายอายุสัญญาสัมปทาน กำหนดให้ BEM สามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ปีละ 1 บาท แต่หากดูอายุสัมปทาน จะปรับขึ้นได้เพียงครั้งเดียวคือในปี 2573 หรือขึ้นค่าผ่านทาง 10 บาท ส่วนที่เหลือ 5 ปี 8 เดือนไม่ให้ปรับขึ้น
ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 ธ.ค. 2562) กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางดังกล่าว หาก ครม.เห็นชอบ จะมีการแจ้งให้กับ BEM รับทราบเพื่อนำไปเจรจาให้ได้ข้อยุติภายในบริษัท
หลังจากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 43 เห็นชอบ ก่อนให้อัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญา และนำเสนอกลับมาที่กระทรวงเพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป โดยกระบวนการทั้งหมด จะต้องเร่งเดินหน้าให้ทันภายในเดือน ม.ค. 2563 ก่อนที่จะลงนามสัญญาภายในเดือน ก.พ. 2563 เนื่องจากสัญญาแรกจะสิ้นสุดในวันที่ 29 ก.พ. 2563 อย่างไรก็ตามหากดำเนินการไม่ทันอาจจะต้องจ้าง BEM บริหารจัดการไปก่อน
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ได้มีการทำความเข้าใจกับทางกลุ่มสหภาพ กทพ. เรียบร้อยแล้ว หลังที่มีการคัดค้าน และยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ให้ขยายอายุสัญญาสัมปทาน แต่อาจจะมีพนักงานบางส่วนที่ยังไม่มีความเข้าใจ โดยหลังจากนี้จะมีการทำความเข้าใจต่อไปว่าเป็นความจำเป็นของนโยบายรัฐ และประโยชน์แก่ประชาชน และจะไม่นำการลงทุนโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือ Double Deck เพราะโครงการนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งไม่ใช่โครงการข้อพิพาทและเป็นเรื่องในอนาคต
สำหรับเงื่อนไขรายละเอียดการต่อสัมปทานนั้น ประกอบด้วย 1.ยุติข้อพิพาททั้งหมด 2.ไม่ขึ้นค่าทางด่วนจนถึงปี 2572 และมีกำหนดปรับขึ้นทุก 10 ปี ครั้งละ 10 บาท จนหมดอายุสัมปทาน 3.เอกชนแบ่งรายได้ให้กทพ.ไม่น้อยกว่าเดิมคือ 60% ของรายได้ทั้งหมด 4.งดเว้นเก็บค่าผ่านทางด่วนทุกเส้นทางในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ 5.ก่อสร้างด่านเก็บเงินเพิ่มอีก 2 จุดที่ด่านอโศกและด่านประชาชื่น 6.ก่อสร้างจุดขึ้น-ลงที่สถานีกลางบางซื่อ 7.การใช้เทคโนโลยีตั๋วร่วมและระบบบัตร EMV ในการคิดค่าผ่านทาง 7.อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (IRR) 15% 8.ลดค่าผ่านทางบางด่านในอนาคต