ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กำเนิด..ฆาตกรต่อเนื่อง

Logo Thai PBS
กำเนิด..ฆาตกรต่อเนื่อง
การจับกุม “สมคิด พุ่มพวง” ผู้ต้องหาคดีฆ่าต่อเนื่อง 6 ศพ อาจไม่ใช่คนสุดท้ายกลุ่มที่เรียกว่า Serial Killer หรือ ฆาตกรต่อเนื่อง ในประเทศไทยยังมีอีกมาก ที่สำคัญคือยังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติเหมือนชาวบ้านทั่วไป

กลุ่มเหล่านี้จะปรากฏอีกก็ต่อเมื่อลงมือก่อเหตุสำเร็จไปแล้ว ตำรวจสมัยใหม่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้เช่น ภูมิศาสตร์ตำรวจ (Geographic Profiling) มีเรื่องการวิเคราะห์พฤติกรรม (Behavioral Analysis) การจัดทำข้อมูลคนร้าย (Criminal Profiling) เข้ามาใช้ในการสืบสวนเพื่อความรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำมากขึ้น รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้ในการป้องกัน ระงับยับยั้งบุคคลที่มีแนวโน้มจะกระทำความผิดลักษณะนี้

นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลตั้งข้อสังเกตสำหรับประชาชนโดยทั่วไปเพื่อเรียนรู้หากคนในชุมชนมีแนวโน้มจะก่อคดีลักษณะฆาตกรรมต่อเนื่อง

หน่วยงาน FBI ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิเคราะห์เรื่องสภาวะทางอารมณ์ แรงกระตุ้น แรงจูงใจ พบว่า การจะควบคุมคนกลุ่มนี้ได้ต้องมีกฏหมายพิเศษใช้บังคับเช่น เช่น การห้ามเข้าใกล้เด็กในระยะที่กำหนด ห้ามเข้าใกล้บริเวณโรงเรียนเพื่อเป็นการป้องกันก่อนเกิดเหตุ

เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานตั้งแต่กระบวนการเข้าที่เกิดเหตุ กระบวนการซักถามผู้กระทำความผิด หรือแม้แต่การตั้งฉายาผู้กระทำความผิดอาจส่งผลคือ ผู้กระทำจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเชื่อมโยงกัน

นอกจากคดีของนายสมคิดแล้ว ในประเทศไทยยังมีอีกหลายคดีที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันเช่น คดีผู้ช่วยพยาบาลที่วางแผนฆาตกรรมสามีของตนเองถึง 2 คน โดยใช้วิธีวางยาพิษทีละน้อยและจัดฉากอำพรางคดีให้มองว่าเป็นอุบัติเหตุหวังเงินประกัน 40 ล้านบาท หรือคดีฆ่าเปลือยสาวนิรนามและใช้ขวดยัดเข้าไปในอวัยวะเพศที่ จ.ระยอง ผู้กระทำความผิดถูกจับกุมในขณะที่ผู้ก่อเหตุย้อนกลับมาดูผลงานในที่เกิดเหตุ

อีกคดีสำคัญคือ คดีนายติ๊งต่าง ผู้ต้องหาฆ่าน้องการ์ตูนและเป็นฆาตกรที่ลงมือกับเด็กต่อเนื่อง มีการก่อเหตุกับเด็กหลายคนในหลายพื้นที่ คดีนี้ผู้เชี่ยวชาญจาก FBI ได้เข้ามาทำงานกับเจ้าหน้าที่ของไทย เมื่อมีการค้นบ้านนายติ๊งต่าง พบตุ๊กตาและของเล่นเด็กจำนวนมาก ในทางวิชาการผู้ก่อเหตุจะสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นเสมือนถ้วยรางวัล (Trophies of The Kills) แสดงถึงชัยชนะในการแสดงอำนาจเหนือเหยื่อหรือเป็นของที่ระลึกถึงเหตุการณ์ความรู้สึกดื่มด่ำขณะลงมือกระทำผิด ซึ่งพยานหลักฐานเหล่านี้อาจถูกมองข้ามทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญใช้เชื่อมโยงคดี

คดีเหล่านี้ถ้าทำคดีแบบปกติคือ จับได้แล้วถือว่าสิ้นสุดเพราะผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ แต่ในความเป็นจริงวิเคคราะห์ตามหลักวิชาการจะพบว่า ผู้ก่อเหตุเหล่านี้มีความผิดปกติทางจิต การลงโทษโดยการคุมขังหรือแม้กระทั่งความตายก็ไม่สามารถยับยั้งคนเหล่านี้ไม่ให้กระทำผิดได้ ที่สำคัญทุกครั้งที่ฆาตกรต่อเนื่องลงมือสำเร็จก็จะมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น ผู้เสียหายคนต่อไปจะวางแผนละเอียดมากขึ้นและมีความผิดพลาดน้อยลง ฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องศึกษาทำความเข้าใจกับผู้ก่อเหตุประเภทนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย

หน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์ของ FBI ได้วิเคราะห์พฤติกรรมของฆาตกรต่อเนื่องไว้ว่า ฆาตกรต่อเนื่องไม่ใช่เกิดมาชั่วร้ายเสมอไป หลายคนมีครอบครัวมีบ้าน มีงานทำ ใช้ชีวิตธรรมดาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมอย่างปกติ ผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 81 มีแรงจูงใจจากเรื่องเพศ ร้อยละ 32 มีปัญหาทางจิต ร้อยละ 42 มีความผิดปกติตามบุคลิกภาพ ยิ่งผู้มีประวัติใช้ความรุนแรงในอดีตจะมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงในการฆาตกรรมเพื่มขึ้นถึง 10 เท่า

สาเหตุการก่อกำเนิดของฆาตกรต่อเนื่อง มี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องกันคือ 1.ปัจจัยทางสังคม 2.ปัจจัยทางชีววิทยา และ 3.ปัจจัยด้านสิ่งแวกล้อม ฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่มีแรงจูงใจทางด้านเพศ อาจประสบความรุนแรงทางเพศในช่วงวัยเจริญเติบโต ชอบทรมานสัตว์ ชอบเล่นไฟหรือปัสสาวะรดที่นอนช่วงเลยวัยอันควร

นอกจากนี้ฆาตกรต่อเนื่องยังมีลักษณะและบุคลิกที่คล้ายกันคือ ชอบค้นหาความตื่นเต้น, ไม่มีความรู้สึกผิดต่อการกระทำของตน, การควบคุมตนเองไม่ได้, ความต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่นและมีพฤติกรรมล่าเหยื่อ

ฆาตกรต่อเนื่องจะมีหลักในการล่าเหยื่อ 3 ประการคือ 1.เลือกตามความพอใจ 2.เลือกจากความอ่อนแอ และ 3.เลือกตามโอกาส ดังนั้นเมื่อเข้าใจถึงสาเหตุก็สามารถนำมาวิเคราะห์ในการสืบสวนจับกุมอย่างแม่นยำ

จุดสังเกตที่ชาวบ้านควรระมัดระวังคือ แนวโน้มของคนที่อาจจะเข้าข่ายเป็นฆาตกรต่อเนื่องในอนาคต ควรดูจากพฤติกรรมผิดปกติจากจุดเล็กๆ เช่น เริ่มจากถ้ำมอง ,ขโมยชุดชั้นในไปสำเร็จความใคร่ หลังจากนั้นก็จะพัฒนาความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีการติดตามเหยื่อ สุดท้ายอาจนำไปซึ่งการข่มขืนและฆาตกรรมในที่สุด

พ.ต.ต.ธนธัส กังรวมบุตร
สารวัตรสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฏหมาย (ILEA)
อบรมวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์..ฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Killer)
สถาบัน FBI สหรัฐอเมริกา

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง