วันนี้ (1 ม.ค.2563) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า "ปาเลา" ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกได้กลายเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกการใช้ครีมกันแดดที่เป็นอันตรายต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยตั้งแต่วันนี้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายอย่างสารเคมีสำหรับป้องกันรังสียูวี "ออกซิเบนโซน" (oxybenzone) จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้หรือจำหน่ายในประเทศ
ทอมมี เรเมนเจเซา ประธานาธิบดีปาเลา ระบุว่า "เราต้องเคารพสิ่งแวดล้อมเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นรากฐานของชีวิต"
การยกเลิกการใช้ครีมกันแดดในครั้งนี้ เป็นการบังคับใช้กฎหมายจากประกาศในปี 2561 ที่ห้ามมิให้นำเข้าครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมี 10 ชนิด สำหรับผู้ค้าปลีกที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 1,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 29,000 บาท ซึ่งสารเคมี 10 ชนิด ประกอบด้วย
- Oxybenzone (benzophenone-3)
- Ethyl paraben
- Octinoxate (octyl methoxycinnamate)
- Butyl paraben
- Octocrylene
- 4-methyl-benzylidene camphor
- Benzyl paraben
- Triclosan
- Methyl paraben
- Phenoxyethanol
ขณะที่มูลนิธิแนวปะการังระหว่างประเทศ ระบุว่า สารเคมีต้องห้ามเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่รู้จักกันดี ส่วนใหญ่เป็นพิษอย่างไม่น่าเชื่อต่อชีวิตของสัตว์ป่าหลายชนิด
ประธานาธิบดีปาเลา บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เมื่อวิทยาศาสตร์บอกกับเราว่า สารเคมีกำลังสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการัง ประชากรปลา รวมถึงมหาสมุทรเอง ชาวปาเลาก็ควรจะตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวและทำเป็นแบบอย่างเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติตามเช่นกัน
เราไม่กังวัลที่จะเป็นประเทศแรกที่ห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้ในครีมกันแดดและเราจะทำหน้าที่ของในการประกาศเรื่องนี้ต่อสาธารณะ
ทั้งนี้ ในปี 2561 ผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยว่า จำนวนครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่งของครีมและโลชั่นทั้งหมด ขณะที่รัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา ก็มีประกาศห้ามที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 เช่นเดียวหมู่เกาะแคริบเบียนของเนเธอร์แลนด์ ในโบแนร์ รวมถึงหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา ที่กฎหมายแบนสารเคมีอันตรายในครีมกันแดดจะมีผลบังคับใช้ในเดือน มี.ค.นี้