วันนี้ (6 ม.ค.2563) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรณีปัญหาการฆ่าตัวตาย และปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2561-2562 พบว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น มีความสลับซับซ้อนและเกิดจากกลุ่มปัจจัยที่มีการซ้อนทับกัน
ปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วมที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ปัญหาความสัมพันธ์ ร้อยละ 53.04 รองลงมาเป็นการใช้สุรา ร้อยละ 29% โรคทางกาย ร้อยละ 25.7 โรคจิตเวช ร้อยละ 19.8 และปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 18.33%
นอกจากนั้น กรมสุขภาพจิต ได้ทำการวิเคราะห์คัดแยกผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จที่มีการระบุถึงปัจจัยสาเหตุทางเศรษฐกิจ พบว่า ลักษณะของปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยเดียว ซึ่งทุกรายจะพบปัจจัยสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วยเสมอ เช่น ปัจจัยด้านโรคเรื้อรังทางกาย โรคทางจิตเวช การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด และกลุ่มปัญหาความสัมพันธ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง พ่อฆ่ายกครัว 4 ศพ! ปมเครียดหนี้ 2 ล้านบาท ไม่มีเงินส่งลูกเรียน
ครอบครัว-เศรษฐกิจปัจจัยเสี่ยงร่วมฆ่าตัวตาย
ส่วนกลุ่มปัญหาความสัมพันธ์ เช่น การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ความน้อยใจจากการถูกดุด่าต่อว่า ความรักหึงหวง จะเป็นปัจจัยที่พบร่วมด้วยมากที่สุด แต่ทั้งนี้ผลกระทบที่มีต่อแต่ละบุคคล จะแตกต่างกันออกไป ปัญหาที่รุนแรงคล้ายกันอาจให้ผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปได้ ขึ้นกับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างและทักษะในการปรับตัวของแต่ละคน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หากบุคคลใดต้องเผชิญกับปัญหาส่วนตัวอย่างรุนแรง แต่มีทักษะการปรับตัวที่ดี มีความยืดหยุ่น เรียนรู้จากความผิดหวัง และมีคนที่เข้าใจอยู่รอบข้าง ไม่ต่อว่ากันอย่างรุนแรง เข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยปกป้องช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้อย่างดี
แม้ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยร่วมที่พบได้ไม่มากนักในการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่ผ่านมา แต่ต้องติดตามปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทยอย่างใกล้ชิด จัดการกับปัญหาในทุกมิติที่อาจนำไปสู่การสูญเสีย
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต
โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก การเข้าใจ และใส่ใจรับฟังซึ่งกันและกัน ให้ผู้ที่กำลังมีปัญหาได้ระบายความรู้สึกออกมา เพื่อช่วยให้จิตใจดีขึ้นหรือสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา
แต่ถ้าปัญหานั้นยังคงสลับซับซ้อนหรือบุคคลนั้นยังมีความคิดทำร้ายตัวเองอยู่ตลอด ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการป้องกันการสูญเสียจากปัญหาสุขภาพจิตทั้งอาการเจ็บป่วยและการฆ่าตัวตาย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
10 สัญญาณเตือน "โรคซึมเศร้า" สกัดก่อนเสี่ยงตาย
ผบ.ตร.ออกมาตรการแก้ปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย