วันนี้ (7 ม.ค.2563) สื่อสังคมออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีของพระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปญฺโญ พระลูกวัด วัดนิคมประทีป (วัดโคกหล่อ) อ.เมือง จ.ตรัง ที่ออกมาโพสต์ข้อความพร้อมภาพผ่านทางเฟซบุ๊ก พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปญฺโญ ได้เผยแพร่ข้อความ ระบุว่า "นี่เรามาถึงจุดที่สามารถถวายสังฆทานโดยไม่ต้องเห็นหน้ากันแล้ว โยมจะทำบุญ เปิดแอปสั่งเดลิเวอรี ตัดเงินผ่านบัญชีแล้วมาส่งในวัด แล้วพระรับประเคนจากคนมาส่ง พร้อมโทรมารับพรผ่าน Video Call #Disruption #โลกหมุนไวใจหมุนธรรม"
ล่าสุด พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปัญโญ ให้สัมภาษณ์ ระบุว่า รู้สึกตกใจหลังจากโพสต์มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น และแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องของโยมที่ตั้งใจอยากจะทำบุญ แต่ติดขัดว่าจะต้องทำงานอยู่ในเมือง อีกทั้งภาระรัดตัวไม่มีเวลาซื้อของมาถวายพระที่วัด จึงอาศัยการสั่งแอปจัดส่งแบบเดลิเวอรีมาที่วัด เมื่อมาถึงแล้วก็ให้คนส่งมาประเคนถวายพระ และรับพรผ่านวิดีโอคอลเพื่อความสะดวกทั้ง 2 ฝ่าย
มันเป็นเทรนตามยุคสมัย เป็นการทำบุญรูปแบบใหม่ ซึ่งพระเองก็ไม่คุ้นเคย ญาติโยมก็เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญในวาระสำคัญต่างๆ แล้วก็เพื่อความสบายใจด้วย จึงโพสต์เล่าสู่กันฟัง ความจริงมีมาสักระยะแล้ว พระอาจารย์ตามวัดต่างๆ ในเมืองก็บอกเล่าให้ฟังว่าได้รับเหมือนกันเกือบจะทุกวัด
ทั้งนี้ มีหลายคนถกเถียงกันในสื่อสังคมออนไลน์ว่าการทำบุญเช่นนี้จะได้รับบุญไหม หรือถกเถียงกันว่า เดลิเวอรีคนที่นำมาส่งจะแบ่งบุญกับเจ้าของเงินที่สั่งซื้อไปถวายคนละครึ่งหรือไม่ พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปัญโญ ระบุว่า บุญตามความหมายสามารถแปลได้ 2 ประการ คือ การสละออก เป้าหมายของการทำบุญ คือ การได้ขัดเกลาตัวเอง ทั้งความโลภ โกรธ หลง ลดลงหรือไม่
การที่ใช้แอปพลิเคชันสั่งถวายผ่านทางเดลิเวอร์รี เป็นจิตที่เจตนาอยากจะทำบุญ เป็นการสละปัจจัยเพื่อที่จะบำรุงพระศาสนา ดังนั้น รูปแบบการถวายเปลี่ยนไป แต่เจตนาไม่เปลี่ยน
บุญ อีกความหมายหนึ่ง แปลว่า "เต็ม" หลังจากที่คนได้ถวายแล้ว จิตใจก็จะอิ่ม และเต็มไปด้วยบุญกุศลเหมือนเดิม ที่สำคัญบุคคลที่ทำหน้าที่ถวายก็ได้ส่วนแห่งบุญด้วย อุปมาเหมือนการที่เราได้จุดเทียน โดยตัวเราเป็นเจ้าของเทียนเมื่อจุดสว่างแล้วก็ไปจุดให้คนอื่นๆ ต่อ แสงไฟของตัวเองก็ไม่ได้ลดลงหรือหายไป แต่กลับทำให้เทียนเล่มอื่นได้สว่างไปด้วย ส่วนที่มีการวิดีโอคอลรับพรนั้น จะเป็นเฉพาะญาติโยมที่รู้จักกัน ก็โทรมารับพรผ่านทางวิดีโอคอล แต่ถ้าไม่รู้จักกันก็ไม่ต้องทำ แต่ผ่านทางคนส่งของเท่านั้น
ทางด้านนางลำยอง เที่ยงธรรม อายุ 63 ปี ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งที่สั่งน้ำปาณะผ่านเดลิเวอรีให้ส่งถึงที่วัด ระบุว่า หากติดธุระออกไปซื้อไม่ได้ แต่อยากทำบุญก็จะสั่งผ่านแอปใช้บริการเดลิเวอรี ซึ่งปกติก็เป็นคนชอบเข้าวัด แต่เห็นว่าสะดวกดี และเป็นเรื่องใหม่ จึงอยากลอง ด้านพนักงานส่งเดลิเวอรี ระบุว่า ขณะนี้มีคนสั่งน้ำให้ไปส่งถวายพระที่วัดต่างๆเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ ซึ่งพอถวายพระก็ให้พรก็ได้บุญไปด้วย