วันนี้ (7 ม.ค.2563) นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว “สธ. พร้อมให้บริการประชาชนช่วงภัยแล้งและน้ำประปาเค็ม” โดยระบุว่าได้ให้สถานพยาบาลสำรวจถังสำรองน้ำ แหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ จัดทำมาตรการประหยัดน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอให้บริการประชาชน เบื้องต้นได้รับข้อมูลจาก 49 จังหวัด โรงพยาบาล 310 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 359 แห่ง อาจมีน้ำไม่เพียงพอ 8 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการสำรองน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมประสานขอสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่และเตรียมการจัดซื้อน้ำ
สำหรับการรับมือเมื่อเข้าสู่ระยะภัยแล้ง ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในทุกระดับ (กระทรวง กรม เขตสุขภาพ จังหวัด) เชื่อมโยงกับศูนย์บรรเทาและป้องกันปัญหาภัยแล้งระดับชาติ จังหวัด และอำเภอ พร้อมขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวังคุณภาพน้ำไม่ให้กระทบต่อการอุปโภคบริโภคในสถานบริการ โดยมอบกรมอนามัยเตรียมสนับสนุนเวชภัณฑ์สำหรับการปรับปรุงสภาพน้ำ
ทั้งนี้ ในช่วงภัยแล้งประชาชนควรล้างภาชนะเก็บกักน้ำให้สะอาด และสำรองเก็บน้ำไว้ให้เพียงพอ เลือกดื่มน้ำบรรจุขวดต้องมีเครื่องหมาย อย.รับรอง หากน้ำไม่สะอาดควรปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อน โดยการต้ม กรอง ส่วนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ควรดื่มน้ำครั้งละมากๆ และจิบน้ำเกลือแร่โอ อาร์ เอส (ORS) เมื่อร่างกายมีภาวะขาดน้ำ
สำหรับกรณีน้ำประปาเค็ม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะความเค็มจากน้ำประปา อาจเพิ่มโซเดียมเข้าสู่ร่างกายต่อวันในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยปกติเรามีโอกาสรับโซเดียมจากอาหารที่มีรสเค็มอื่น ๆ มากกว่า เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด การเติมน้ำปลา ซอสปรุงรส ผงปรุงรสในอาหาร สำหรับกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจอาจต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภคไว้คือ ในน้ำประปาควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไปจะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ โดยคนทั่วไปควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งน้ำประปามีโซเดียมประมาณ 100–150 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะดื่มน้ำประปาจนได้รับโซเดียมเกินกว่าที่กำหนด ทั้งนี้ การดื่มน้ำกร่อยอาจได้รับโซเดียมเพิ่มกว่าปกติเล็กน้อย ควรลดการบริโภคอาหารที่ปรุงรสเค็ม เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส หรือขนมกรุบกรอบ
สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
นอกจากนี้ช่วงภัยแล้ง ขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่มเพื่อป้องกันโรคที่พบบ่อยอาทิ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ไวรัสตับอักเสบ เอ ไข้หวัดหน้าร้อน โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ผดร้อน เครียด และลมแดด (Heat stroke) ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ