ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุชาติ" ยื่นหนังสือลาออก "ผู้ว่าการ กทพ."

เศรษฐกิจ
7 ม.ค. 63
17:55
2,111
Logo Thai PBS
"สุชาติ" ยื่นหนังสือลาออก "ผู้ว่าการ กทพ."
นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. อ้างเพื่อแสดงความรับผิดชอบยุติข้อพิพาททางด่วน

วันนี้ (7 ม.ค.2563) รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งว่า นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ.ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ.แล้ว โดยจะมีผลภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นตามเงื่อนไขสัญญาจ้างผู้ว่าฯ กทพ. ซึ่งพนักงาน กทพ.ส่วนใหญ่รับทราบ

เหตุผลในการลาออก เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ กรณีที่ไม่เห็นด้วยต่อการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและได้แสดงความเห็นคัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการ กทพ.เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้บอร์ดพิจารณาแนวทางยุติข้อพิพาทเฉพาะในส่วนที่ กทพ.แพ้คดีจากการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้นเนื่องจากคดีข้อพิพาทที่เหลือยังไม่มีการตัดสิน จึงมองว่า กทพ.ยังมีโอกาสที่จะชนะคดีอยู่ในส่วนของแนวทางยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BEM) ที่มีการขอให้ทำการทบทวนนั้นมีการฟ้องร้องรวม 17 คดี มูลค่าความเสียหายจากข้อพิพาทประมาณ 58,000 ล้านบาท แลกกับสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ซึ่งทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการสั่งการให้ กทพ.พิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ไม่ใช่หาแนวทางยุติข้อพิพาท

ผู้ว่าการ กทพ.ได้ทำอย่างสุดความสามารถ ในการยื่นเสนอขอให้ทบทวน และยุติข้อพาทเฉพาะในส่วนคดีความถูกตัดสินแพ้ไปก่อน เพราะคดีข้อพิพาทที่เหลือศาลยังไม่ตัดสิน ดังนั้น กทพ.จึงยังมีโอกาสที่จะชนะ


ก่อนหน้านี้ นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ กทพ. เปิดเผยว่า แนวทางในการเจรจากับ BEM เพื่อยุติข้อพิพาทคดีทางด่วน ที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท มีเงื่อนไขหลัก คือ ไม่มีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) และยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีต่อกัน 17 คดี โดยจะมีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วน เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ว่าในที่ประชุมได้มีมติอนุมัติเรียบร้อยแล้วและจะนำข้อสรุปเสนอคณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43 ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเข้ากระบวนการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี ต่อไป

สำหรับนายสุชาติ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ.วันที่ 27 ก.ย. 2561 ต่อมามีคำสั่งย้ายตามมาตรา 44 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 10/2562 โดยเป็นคำสั่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2562 กลับเข้ามาเป็นผู้ว่าการ กทพ.อีกครั้ง และจะครบวาระวันที่ 2 ก.ค.2563 รวมถึงทางคณะกรรมการ กทพ.ได้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ผู้ว่าการ กทพ.คนใหม่แล้ว โดยมีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน

ด้านนางยุวธิษา ธัญญเจริญ รองประธานฝ่ายวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. กล่าวว่า การประชุมบอร์ด กทพ. เมื่อวานนี้ (6 ม.ค.2563) ทางกทพ.ได้พยายามเสนอว่า ประเด็นที่หารือยังมีประเด็นข้อโต้แย้งอยู่ส่วนหนี้ข้อพิพาทยังไม่รู้ว่าแพ้หรือชนะแต่เมื่อกระทรวงคมนาคมสั่งให้ กทพ.ทบทวนการเจรจา แต่สุดท้ายข้อมูลที่พิจารณาเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้พิจารณาข้อมูลจาก สนข.แต่เป็นข้อมูลเดิมที่ กทพ.ได้เสนอ ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทพ.เสนอให้ทบทวนเลื่อนการต่อสัญญาและการเจรจาออกไปก่อน เพราะข้อมูลยังไม่ชัดเจนและมีผลกระทบเพราะการทางฯ ที่จะเป็นหนี้ไม่สามารถกู้ได้และมีปัญหาเรื่องเงินสดขาดสภาพคล่องจนถึงปี 2566

นอกจากนี้มองว่า สัญญาที่ร่างมาอาจจะเป็นการเอื้อกับเอกชน หากเกิดข้อพิพาท เอกชนมีสิทธิต่อสัญญาสัมปทานก็อาจจะกลายเป็นการวนลูปเดิม

ผู้ว่าฯ กทพ.มองว่า ไม่ใช่วิธีการบริหารที่ถูกต้อง เพราะสัญญาที่ร่างมา อาจจะเป็นเอื้อเอกชนเพียงรายเดียวในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ และยังไม่รวมถึงข้อสัญญาอื่นๆ เช่น การชดเชยรายได้ หากมีความผันผวนทางเศรษฐกิจอาจต้องปรับค่าผ่านทาง หรืออาจจะต้องขยายสัญญาสัมปทาน

ขณะที่ในวันที่ 10 ม.ค.นี้ สหภาพฯ กทพ.จะมีการระดมความคิดเห็นกับพนักงานเพราะขนาดผู้ว่ายังลาออก แล้วใครจะมาลงนามแทน พนักงานจะยอมรับได้ไหม เพราะบอร์ดและผู้ว่าจะครบวาระในเดือน ก.ค.2563 ซึ่งผลกระทบจะอยู่ถึง 15 ปี 8 เดือน หรืออาจจะยาวต่อไป ขณะเดียวกัน สหภาพฯ ยังเตรียมร้องศาลปกครองคุ้มครองการพิจารณาขยายสัมปทาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง