วันนี้ (8 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ภายใต้โครงการ "ต่อเสริมเติมทุนเอสเอ็มอีสร้างไทย" โดยแบ่งการช่วยเหลือ 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก SMEs ที่ต้องการสภาพคล่อง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีวงเงินค้ำประกัน 60,000 ล้านบาท ธนาคาออมสินปล่อยกู้เปลี่ยนเครื่องจักรวงเงิน 20,000 ล้านบาท เเละปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง เเละชำระหนี้ วงเงิน 50,000 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 SMEs ที่จำเป็นต้องช่วยเหลือทันที กลุ่มนี้ บสย.ขยายเวลาค้ำประกัน เเละปรับเงื่อนไขให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ SMEs เพื่อให้ทำธุรกิจต่อไปได้
และกลุ่มสุดท้าย SMEs ที่มีศักยภาพ กลุ่มนี้ มีวงเงินเสริมสภาพคล่อง มากกว่าเเสนล้านบาท กองทุน สสว.ปล่อยกู้วงเงิน 50,000 ล้านบาท เงินกู้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท สินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย ธนาคารออมสิน วงเงิน 45,000 ล้านบาท รวมถึงสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย 10,000 ล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ยกระดับการดูแลกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการตามมาตรการต่างๆและรายงานความคืบหน้าทุกๆ 2 เดือน
ขณะที่นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมเเห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาเป็นเรื่องดี แต่ต้องดูในขั้นตอนปฏิบัติว่าเอสเอ็มอีจะเข้าถึงได้เเค่ไหน
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านรายในประเทศ มียอดขายสินค้าที่คิดเป็นมูลค่าราว 40% ของจีดีพี มีการจ้างงานถึง 14 ล้านคน คิดเป็น 80-85% ของการจ้างงานในประเทศทั้งหมด