ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนความหมาย "การวิ่ง" ที่มากกว่ามิติทางการเมือง

การเมือง
10 ม.ค. 63
12:22
854
Logo Thai PBS
ย้อนความหมาย "การวิ่ง" ที่มากกว่ามิติทางการเมือง
กิจกรรม “วิ่ง” กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณะอีกครั้งหลังมีการประกาศจัด “วิ่งไล่ลุง” 12 ม.ค.นี้ ขณะที่แอดมินเพจดัง "เชียร์ลุง" เลือกวันเดียวกันแต่คนละสถานที่จัดกิจกรรม "เดินเชียร์ลุง" การ "วิ่ง" จึงถูกพูดถึงในความหมายแตกต่างจากที่ผ่านมา

แม้จะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กิจกรรม “วิ่ง” กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณะอีกครั้ง หลังกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง เพื่อประโยชน์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย” ประกาศจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในวันที่ 12 มกราคมนี้ แต่ดูเหมือนว่าการกลับมาอยู่ในกระแสความสนใจครั้งนี้ “วิ่ง” ได้ถูกพูดถึงในความหมายที่แตกต่างจากที่ผ่านมา

“วิ่งไล่ลุง” หรือ “ชุมนุมทางการเมือง” ?

นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 ด้วยความหมายที่เดาไม่ยากว่า “ลุง” คือใคร ทำให้กิจกรรมนี้ถูกจับจ้องอย่างหนักตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามนักข่าวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ด้วยประโยคสั้น ๆ ว่า “วิ่งให้ทันแล้วกัน”

หลังจากนั้น การแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรม เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้จัดกิจกรรมใช้สถานที่แถลงข่าว และให้ย้ายสถานที่วิ่งจากบนถนนสาธารณะไปอยู่ในพื้นที่รั้วรอบขอบชิดอย่างสวนรถไฟ ไปจนถึงมีการประกาศจัดกิจกรรม “เดินเชียร์ลุง” จากเพจเฟซบุ๊ก “เชียร์ลุง” ในวันเดียวกันแต่คนละสถานที่

 


ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตลอดเดือนธันวาคมต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้กิจกรรม “วิ่ง” ที่เคยเป็นภาพตัวแทนของคนรักสุขภาพและการรณรงค์ทางสังคม ถูกแทนที่ด้วยความหมายทางการเมือง จนถึงกับมีการตั้งคำถามว่า “วิ่งไล่ลุง” เป็นการชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องได้รับอนุญาตก่อน ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หรือไม่

และถ้ากิจกรรมนี้เข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง กิจกรรมวิ่งอีกหลายงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เช่น “วิ่งไล่ยุง” ของกระทรวงสาธารณสุข “วิ่งติดปีก” ของกองทัพอากาศ หรือ “วิ่งสู้ PM 2.5” ของกลุ่มคนรุ่นใหม่จังหวัดนครสวรรค์ กิจกรรมวิ่งเหล่านี้ก็เข้าข่ายด้วยหรือไม่

   อ่านเพิ่ม : "สาธิต" ชวนประชาชน “วิ่งไล่ยุง” 10 ม.ค.นี้

จนถึงขณะนี้ ข้อถกเถียงดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป และดูเหมือนจะถูกขยายไปเป็นข้อกังวลว่า อาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง ไปกระตุ้นข้อขัดแย้งเดิมระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายคัดค้านรัฐบาล จนกระทบต่อสถานการณ์ทางการเมือง และทำให้ตึงเครียดมากขึ้น

หรือจริง ๆ แล้ว หากไม่ตัดตอนมองเพียงกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” หรือ “เดินเชียร์ลุง” แต่ย้อนกลับไปทำความเข้าใจความหมายของกิจกรรม “วิ่ง” ที่เป็นกระแสของคนรักสุขภาพและการรณรงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะในประเทศไทยมาเกือบ 40 ปี อาจช่วยขยายมุมมองให้เห็นว่า “วิ่ง” ไม่ได้มีแค่มิติทางการเมือง แต่ยังมีมิติอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่ ในกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้

ย้อนกระแสวิ่งยุคแรก : วิ่งสู่ชีวิตใหม่


"ทรงศักดิ์ รักพ่วง"
นักศึกษาปริญญาโท คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เขียนบทความ “การวิ่งมาราธอนในไทย : เครือข่ายทางสังคมและความท้าทายในศตวรรษที่ 21” ระบุว่า กระแสความนิยมด้านการวิ่ง (Thai Running Boom) ในยุคแรก เริ่มต้นมาจาก ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ผู้บุกเบิกกระแสการวิ่งและเป็นผู้สร้างตำนานการวิ่งในประเทศไทย โดยเริ่มต้นเมื่อ ศ.นพ.อุดมศิลป์ อายุ 40 ปีในขณะนั้น ได้ป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากการใช้ชีวิตที่ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง แต่การไม่ยอมแพ้ความเจ็บป่วย ทำให้ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ลุกขึ้นมาฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งออกกำลังกาย จนหายจากโรค

ภาพจาก สสส.

ภาพจาก สสส.

ภาพจาก สสส.


หลังกลับมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกครั้ง ศ.นพ.อุดมศิลป์ ได้เขียนหนังสือ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” ถ่ายทอดประสบการณ์ความเจ็บป่วยของตนเอง เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักว่าหน้าที่การดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้เข้มแข็งสมบูรณ์อยู่เสมอเป็นหน้าที่ของตัวเราเอง ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นตำราสร้างแรงบันดาลใจให้อีกหลายคนหันมาดูแลสุขภาพด้วยการวิ่ง

นอกจากเขียนหนังสือ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ยังเป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่ริเริ่มจัดงานวิ่งขึ้นในเมืองไทยในรายการ “วิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ” หรือ The Royal Marathon Bangkok เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2530 ที่สะพานพระราม 9 กรุงเทพฯ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์การวิ่งที่สำคัญของประเทศไทย เพราะนอกจากเป็นการจัดวิ่งระยะทางไกลระดับมาราธอน คือ 42.195 กิโลเมตร เป็นครั้งแรก ยังมีนักวิ่งทุกประเภทเข้าร่วมวิ่งอย่างเนืองแน่น โดยรวมจำนวนนักวิ่งทั้งหมดมากกว่า 100,000 คน

ภาพจาก ebooks.dusit.ac.th

ภาพจาก ebooks.dusit.ac.th

ภาพจาก ebooks.dusit.ac.th

ยุคที่สอง : ดูหนังชวนวิ่ง กับ “รัก 7 ปี ดี 7 หน”

เพื่อจุดกระแสความนิยมในการวิ่งให้กระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเริ่มแผ่วลง ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงรวบรวมนักวิ่งจากชมรมต่าง ๆ กว่า 100 ชมรมทั่วประเทศไทย และก่อตั้ง “สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย” ในปี 2554 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเชิญ ศ.นพ.อุดมศิลป์ เป็นประธานสมาพันธ์ฯ คนแรก ผลของการจัดตั้งสมาพันธ์ทำให้เกิดภาคีครือข่ายของนักวิ่งกระจายตามภูมิภาคต่างๆ โดยสมาพันธ์ฯ สนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ รวมทั้งจัดทำวารสาร Thai Jogging เพื่อเป็นเครื่องมือและสื่อกลางในการสื่อสารให้กับนักวิ่ง

ภาพจาก GTHchannel

ภาพจาก GTHchannel

ภาพจาก GTHchannel


ปีต่อมา กระแสการวิ่งในเมืองไทยได้รับความสนใจในวงกว้างอีกครั้ง หลังค่ายหนัง GTH ในเครือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สร้างภาพยนตร์เรื่อง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” นำเสนอเรื่องราวของคู่รักต่างวัย ที่ใช้การวิ่งมาราธอนเป็นตัวดำเนินเรื่องระหว่างคนสองคน ที่หันมาออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพและต้องการเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนหันมาออกกำลังกาย หนึ่งในนั้น คือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ศิลปินนักร้องที่ต่อมา ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของนักวิ่งในยุคปัจจุบัน

หลังจากนั้น กระแสการวิ่งยังคงเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่อง เกิดกิจกรรมวิ่งอีกหลายกิจกรรม โดยวัตถุประสงค์หลักยังคงเน้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพโดยการออกกำลังกาย ไปจนถึงการระดมทุนเพื่อการกุศล เช่น “Bogie99 5K Running Challenge” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 ที่สวนลุมพินี ที่มีนายทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ดารานักแสดง ได้ชักชวนกลุ่มนักวิ่งต่อแถววิ่งเป็นขบวนรถไฟ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือชาวไทยภูเขา และส่งคำท้าต่อไปยังอีก 9 คน ให้จัดกิจกรรมขบวนรถไฟนักวิ่งต่อเนื่องกัน จนทำให้กิจกรรม Bogie99 ได้รับความสนใจเป็นวงกว้างและเกิดขึ้นในหลายจังหวัด

ยุคปัจจุบัน : ก้าวคนละก้าว เพื่ออุปกรณ์การแพทย์

ปี 2559 กระแสการวิ่งในประเทศไทยนับได้ว่า ได้รับความนิยมมาก เห็นได้จากสถิติผู้วิ่งออกกำลังกายของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2554 จาก 5.5 ล้านคน เป็น 11.96 ล้านคน ปัจจัยสำคัญมาจากมีการจัดงานวิ่งในทุกสัปดาห์ ทั้งงานใหญ่และงานเล็ก โดยในแง่การตลาดงานวิ่งกลายเป็นหนึ่งในวิธีการประชาสัมพันธ์แบรนด์ หลายภาคธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการวิ่งมาก่อน ก็เลือกที่จะจัดงานวิ่ง เพื่อทำให้แบรนด์ได้ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น ขณะที่ระบบการจัดงานวิ่งก็พัฒนามากขึ้นกว่าเดิม จนสร้างความรู้สึกให้ผู้เข้าร่วมงานรู้สึกว่าตัวเองเป็น “นักกีฬา” อย่างแท้จริง ปัจจัยเหล่านี้ ยิ่งส่งผลให้กระแสการวิ่งได้รับความนิยมเป็นทวีคูณ

ภาพจาก “ก้าวคนละก้าว”

ภาพจาก “ก้าวคนละก้าว”

ภาพจาก “ก้าวคนละก้าว”


อีกหนึ่งสิ่งที่กระตุ้นให้กระแสวิ่งเติบโต คือ โลกออนไลน์ ที่ได้กลายเป็นช่องทางช่วยกระจายข่าวสาร เช่น การกระจายข่าวทาง Facebook ได้ทำให้เกิดการสร้างเพจเพื่อรวมกลุ่มกันอย่างอิสระทำได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่แสดงข้อมูล สถิติ ของนักวิ่ง และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิ่งหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง

โดยหนึ่งในกิจกรรมวิ่งครั้งประวัติศาสตร์ที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียกระจายข้อมูลจนเกิดเป็นกระแสทั้งประเทศคือ “โครงการก้าวคนละก้าว” ของตูน บอดี้สแลม ที่เริ่มวิ่งครั้งแรกจากกรุงเทพฯ ไปที่โรงพยาบาลบางสะพาน เพื่อระดมทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลน โดยครั้งนั้นสามารถระดมทุนได้มากถึง 85 ล้านบาท และครั้งที่ 2 ปลายปี 2560 เป็นการวิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา ไปสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร สามารถระดมทุนได้มากถึง 1,380 ล้านบาท

วิ่งฟีเวอร์ กับข้อถกเถียง "สิทธิคนใช้ถนน"

เดือนเมษายน 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำคู่มือ “การจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนนของประเทศไทย” เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นให้ผู้จัดกิจกรรมวิ่งบนถนน ใช้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน หลังงานวิ่งหลายรายการมีปัญหาเรื่องร้องเรียน และถูกตั้งคำถามว่าการปิดถนนสาธารณะเพื่อจัดงานวิ่ง นั้นละเมิดสิทธิประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการจัดการขยะและความสะอาดหลังกิจกรรมวิ่ง ที่มีเสียงสะท้อนจากประชาชนในวงกว้าง

ก่อนหน้านั้น สสส. จัดทำ คู่มือการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน ของ IAAF (International Association of Athletics Federations : สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ) เพื่อเป็นคำแนะนำให้การจัดการแข่งขันวิ่งประเภทถนนมีมาตรฐานสูงในระดับที่สามารถจัดเกรด กติกาและคำแนะนำที่เป็นสากลพึงปฎิบัติ เพื่อให้การจัดการแข่งขันมีความปลอดภัยและเกิดความเท่าเทียมกัน

แม้การจัดกิจกรรมวิ่งแต่ละครั้ง ผู้จัดต้องขออนุญาตหน่วยงานเจ้าของพื้นที่และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร แต่เมื่อกิจกรรมวิ่งมีจำนวนมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 รายการต่อปี การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนรับรู้ข้อมูลการปิดจราจรล่วงหน้าเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างนักวิ่งและประชาชนผู้สัญจร รวมถึงเหตุการณ์ที่มักถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การปิดถนนวิ่งส่งผลกระทบต่อรถฉุกเฉิน รถกู้ภัย ฯลฯ ในกรณีเร่งด่วน

นอกจากนี้ คู่มือดังกล่าว ยังมีวัตถุประสงค์ในการกำกับกิจกรรมการวิ่งให้เกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากหลายกิจกรรมมีการยกเลิกโดยกระทันหัน ฉ้อโกงประชาชน ไปจนถึงเป็นงานวิ่งที่ไม่มีคุณภาพ สร้างความเสียหายต่อประชาชนและชื่อเสียงของพื้นที่จัดกิจกรรม รวมถึงชื่อเสียงของประเทศ

แม้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ปรากฏว่าในระยะหลัง มีผู้จัดกิจกรรมวิ่งหลายราย ใช้วิธีจัดงานวิ่งแบบ Virtual Run ซึ่งเป็นการวิ่งที่มีความยืดหยุ่น จะเลือกวิ่งที่ไหน เวลาใดก็ได้ตามที่ผู้วิ่งสะดวก โดยมีกติกาง่าย ๆ คือนักวิ่งสะสมระยะทางให้ครบตามกำหนด ผ่านอุปกรณ์นาฬิกาจับระยะหรือแอปพลิเคชัน เพื่อแลกรับรางวัล

วิ่งเพื่อสุขภาพทางสังคมและการเมือง

ทรงศักดิ์ สรุปในตอนท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ หรือการรณรงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ การรวมกลุ่มของนักวิ่งได้ทำให้เกิด “เครือข่ายทางสังคม” ที่มีความต้องการแบ่งปันและส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการก้าวคนละก้าวที่สามารถระดมทุนช่วยเหลือสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเครือข่ายทางสังคมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่นอกจากการได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกิจกรรมวิ่งแล้วนั้น

ยังส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เพิ่มโอกาสในการแก้ไขปัญหา เกิดการพึ่งพาตนเอง รวมไปถึงเกิดอำนาจหรือพลังในการต่อรอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเครือข่ายทางสังคมอาจทำให้เกิดกระบวนการผลักดันในเชิงนโยบาย ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสังคมในด้านต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือปัจจัยพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดี ที่ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่ยังรวมไปถึงสังคมและการเมืองอีกด้วย


ข้อสรุปของทรงศักดิ์ อาจช่วยทำให้มุมมองและความคิดทั้งของผู้ที่กำลังจับตา “วิ่งไล่ลุง” หรือ "เดินเชียร์ลุง" และนักวิ่งมีความเข้าใจต่อการ “วิ่ง” ครั้งนี้ และส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้วิธีการรับมือต่อกิจกรรมดังกล่าวว่า จะตัดสินใจเข้าร่วมวิ่งด้วยวัตถุประสงค์วิ่งเพื่อสุขภาพ หรือการยอมรับในกิจกรรมของนักวิ่งกลุ่มนี้ในฐานะพื้นที่แสดงการรวมตัวของเครือข่ายทางสังคม ที่แท้จริงแล้ว ก็เป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย

 

เพ็ญพรรณ อินทปันตี : ทีมข่าววาระทางสังคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผบ.ทบ. ชี้ "วิ่งไล่ลุง" มีผู้อยู่เบื้องหลัง สร้างตัวแทนต่อสู้รัฐ

ผู้จัด “วิ่งไล่ลุง” ร้อง "ช่อ-พรรณิการ์” กมธ.การกฎหมาย สอบ ตร.สกัดกิจกรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง