วันนี้ (16 ม.ค.2563) นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ได้เสนอกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาจัดสรรเงินจากโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ให้เกษตรกรกลุ่มที่ตัดอ้อยสดเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดได้รับเงินเพิ่มอีก 130 บาทต่อตันอ้อย เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดมากขึ้น
เมื่อรวมกับราคาอ้อยขั้นต้นที่ 750 บาทต่อตันอ้อย และค่าความหวานที่ ซี.ซี.เอส. ละ 45 บาทต่อตัน และยังมีค่าตัดอ้อยสดอีกตันละ 30 บาท จะทำให้ชาวไร่ได้รับเงินค่าอ้อยตันละ 1,000 บาท ซึ่งเกือบครอบคลุมต้นทุนการปลูก และช่วยลดการเกิดฝุ่นพิษ เนื่องจากชาวไร่อ้อยแจ้งว่า ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จึงขอปรับเป้าหมายอ้อยไฟไหม้อยู่ที่ร้อยละ 50 เท่ากับอ้อยสดจากเป้าหมายอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 30 และอ้อยสด ร้อยละ 70
สาเหตุที่ชาวไร่ยังปรับตัวไม่ทัน เพราะขาดแรงงาน และเครื่องจักรมีราคาสูง แม้ว่าจะมีโรงงานน้ำตาลเข้าร่วมขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อย แต่ยังไม่มากนัก และหากจะลดอ้อยไฟไหม้เป็นศูนย์จะต้องใช้เครื่องจักร 4,600 คัน แต่ปัจจุบันมีเพียง 1,900 คันทั้งประเทศ จึงต้องหามาตรการเสริมแรงจูงใจให้ชาวไร่ คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ช่วง มี.ค.2563
นายเอกภัทร ยังระบุว่า สอน.จะพยายามเข้าไปส่งเสริมให้ชาวไร่ปรับเปลี่ยนระยะห่างของการปลูกอ้อยเพื่อเพิ่มระยะห่างอย่างน้อย 1.8 เมตร เพื่อทำให้รถตัดอ้อยเข้าไปตัดอ้อยได้ไม่ทำลายกออ้อย และชาวไร่ยังสามารถนำใบอ้อยส่งขายกับโรงงานน้ำตาลเพื่อนำไปผสมกับชานอ้อย ผลิตเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าโดยขณะนี้มี 8 โรงงานที่รับซื้อตันละ 50 บาท ช่วยเพิ่มมูลค่าและรายให้ชาวไร่ด้วย และมองว่า ปัญหาการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากร้อยละ 5 หากเทียบกับภาคขนส่ง และการเผาอ้อยมีระยะเวลาสั้นไม่เกิน 4 เดือนเท่านั้น แต่เชื่อว่ามาตรการจูงใจทั้งหมดจะลดการอ้อยไฟไหม้เป็นศูนย์ภายใน 3 ปี