กรณีที่มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้สร้างสะพานจาก อ.ขนอม จ.นครศรี ธรรมราชไป อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยใช้ชื่อว่า "สะพานจันทร์โอชา" วันนี้ (17 ม.ค.2563) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข้อเสนอของ นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐเท่านั้น
ทั้งนี้การสร้างสะพานเป็นประโยชน์กับประชาชน นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาความเหมาะสม แต่ไม่อนุญาตให้นำชื่อหรือนามสกุลของนายกรัฐมนตรีไปใช้ตั้งชื่อ
เชื่อว่าคนจะจดจำบุคคลใด ก็ขึ้นอยู่กับคุณงามความดีที่ทำไว้ ไม่ขึ้นอยู่กับการตั้งชื่อไว้ในสถานที่ใด
ส่วนน.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ที่ดิสเครดิตนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ไม่มีส่วนเกี่ยว ข้อง และรับรู้ในเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องของส.ส.ในพื้นที่ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ถูกบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม
ท่านนายกรัฐมนตรีไม่เคยมีแม้แต่แนวคิดที่จะให้นำนามสกุลท่านไปตั้งชื่อสะพานตามที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐเสนอในการประชุมสภาฯ โดยฝากขอบคุณสำหรับความประสงค์ดีที่มีให้ แต่ส่วนตัวแล้วท่านคิดว่าไม่สมควรจึงไม่มีการอนุญาตให้นำนามสกุลไปใช้ตั้งชื่อสะพาน
— Professor Narumon Pinyosinwat (@DrNarumonP) January 17, 2020
#โฆษกบอกต่อ #อาจารย์แหม่ม pic.twitter.com/HBnd8iCRUm
"ศรีสุวรรณ" เตือนชื่อสะพานเสี่ยงหลุดเก้าอี้
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า ในอดีต การใช้ชื่อสกุล นายกรัฐมนตรี มาตั้งเป็นชื่อสะพาน เพื่อเป็นเกียรติ สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้ แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ บัญญัติห้ามไว้ใน มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 ห้ามใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เพื่อประโยชน์ของตนเอง อันขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หลังมีการเสนอให้ใช้นามสกุล จันทร์โอชา ของนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม ตั้งเป็นชื่อสะพาน ซึ่งอาจจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ หลุดจากตำแหน่งได้