ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฟักแล้ว 30 ตัว "ลูกเต่ามะเฟือง" หาดท้ายเหมือง

สิ่งแวดล้อม
20 ม.ค. 63
06:12
1,201
Logo Thai PBS
ฟักแล้ว 30 ตัว "ลูกเต่ามะเฟือง" หาดท้ายเหมือง
ลูกเต่ามะเฟือง 30 ตัวแรกฟักออกจากไข่ บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา ปล่อยสู่ทะเลแล้ว 24 ตัว ส่วนอีก 6 ตัวถูกนำไปอนุบาลก่อน คาดฟักออกเป็นตัวเพิ่มอีก 1-2 วัน

วันที่ 19 ม.ค.2563 เวลา 20.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วยพลเรือโท เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และผู้บริหาร ทช. เดินทางไปศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองหาดท้ายเหมือง จ.พังงา หลังจากได้รับทราบว่า มีลูกเต่ามะเฟือง 1 ตัวได้ขึ้นมาจากหลุมฟักไข่เมื่อช่วงเช้า ซึ่งหลุมไข่เต่ามะเฟืองนี้ เป็นหลุมที่วางไข่เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2562 นับเวลารวม 63 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง "เต่ามะเฟือง" ขึ้นวางไข่ชายหาดท้ายเหมือง จ.พังงา

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ต่อมา เจ้าหน้าที่ ทช.ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-ท้ายเหมือง วางแผนและขุดผ่ารังช่วยลูกเต่ามะเฟืองในการฟักหลุมแรกที่หาดท้ายเหมือง สรุปได้ลูกเต่ามะเฟือง 30 ตัว เป็นตัวที่แข็งแรง 24 ตัว จึงนำไปปล่อยลงทะเล ส่วนอีก 6 ตัว ยังอ่อนแอ จึงนำไปอนุบาลต่อก่อนพิจารณาปล่อยลงทะเลต่อไป ส่วนไข่ที่ไม่ได้ฟักมีรวม 55 ฟอง ได้นำไปฝังกลบใต้ผิวทรายบริเวณที่เดิม เพื่อให้มีการพัฒนาเป็นตัวที่สมบูรณ์อีกรอบ คาดว่าอีกประมาณ 1-2 วัน อาจจะฟักออกเป็นตัวเพิ่มอีก

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ทั้งนี้ บริเวณหลุมไข่เต่า ยังมีผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่และประชาชนประมาณ 200 คน มาร่วมเป็นสักขีพยานเฝ้าดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และให้กำลังใจแก่ลูกเต่ามะเฟืองในการเดินลงทะเลอีกด้วย

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ขณะที่ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความ "ทำความรู้จักกับเต่ามะเฟือง" โดยระบุว่า เริ่มจากดูรูปร่างของเต่าน้อยน่ารัก สังเกตขาคู่หน้าที่ยาวมาก ลักษณะเป็นใบพายช่วยพาตัวเองไปข้างหน้า เต่ามะเฟืองอาศัยกลางทะเลเปิด ไม่เข้าใกล้ฝั่งเหมือนเต่าตนุ เต่ากระ ขาหน้าจะยาวช่วยให้ว่ายน้ำเก่ง โดยเฉพาะลูกเต่า เมื่อลงสู่ทะเลแล้วจะว่ายน้ำอย่างเดียว เพราะธรรมชาติบอกให้ออกไปไกลฝั่งมากที่สุด เหตุผลคือใกล้ฝั่งศัตรูเยอะ ตกเป็นเป้าได้ง่าย

 

เมื่อว่ายออกไปไกลในทะเลเวิ้งว้าง ลูกเต่าตัวนิดเป็นเหมือนเศษชิ้นเล็ก ๆ กลางมวลน้ำมหาศาล ศัตรูในทะเลเปิดยังมีน้อยกว่า จะเห็นสีน้ำเงินอยู่ด้านบนคลุมจนหมดตัว หากนกทะเลมองลงมาก็ไม่เห็น เพราะสีเต่ากลืนไปกับสีมวลน้ำในที่ลึก หรือแม้เป็นสัตว์นักล่ากลางทะเลลึก พวกนี้มักวนเวียนอยู่ใกล้ผิวน้ำหากเต่าน้อยกำลังดำดิ่ง มองลงมายิ่งไม่เห็นใหญ่ แต่ใต้ท้องเป็นสีขาว หากผู้ล่าอยู่ข้างล่างลึกลงไป มองขึ้นมาจะเห็นแสงจ้าด้านบน สีท้องก็กลืนไปกับแสง เต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นหลัก ไม่ต้องใช้สีเพื่อการพรางตัวตามล่า แต่ใช้สีเพื่อพรางตัวหลบภัย มีการวิจัยในต่างประเทศพบว่าเต่ามะเฟืองจะว่ายน้ำตลอดเวลา และจะว่ายด้วยความเร็ว 0.5-0.8 เมตรต่อวินาทีถือว่าเร็วมาก โดยการว่ายมี 2 แบบ แบบแรก คือ ว่ายปกติจะโผล่มาหายใจ ดำดิ่งว่ายไปแล้วจะโผล่มาหายใจอีกครั้ง เรียกว่าการว่ายแบบ U-shape อีกแบบมักพบตอนกลางวัน จะว่ายแบบไฮสปีดกว่าแบบแรก วิธีนี้เต่าจะว่ายอยู่ในระดับความลึกราว 2 เมตร ซึ่งเต่ามะเฟืองจะไม่ค่อยพัก แตกต่างจากเต่ากระเต่าตนุที่พบว่าจะมีการพักตามพื้น เต่ามะเฟืองจะว่ายไปเรื่อย อาจมีพักบ้างนานๆ ครั้ง เพราะเต่ามะเฟืองหากินในระยะทางไกลมากเมื่อเทียบกับเต่าทะเลชนิดอื่น

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

มีรายงานบอกว่า โดยปกติเต่ามะเฟืองมีพื้นที่หากินเกิน 4,000 กิโลเมตร ดำน้ำได้ลึกกว่าเต่าทะเลชนิดอื่น หากเป็นเต่าเต็มวัยอาจดำได้ลึกมากกว่า 1,000 เมตร และอยู่ได้นาน 85 นาที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟักแล้ว! "ลูกเต่ามะเฟือง" โผล่จากหลุมไข่หาดท้ายเหมือง 

ข่าวดี! แม่เต่ามะเฟืองวางไข่หาดในทอน ย้ายหลุมจัดทีมเฝ้า 24 ชม. 

เดินเต่าพบหลุมไข่ "เต่ามะเฟือง" หาดบ่อดาน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง