วันนี้ (21 ม.ค.2563) ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติเอกฉันท์ ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ด้วยมติ 225 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลกล่าวขอบคุณ ส.ว. ว่า ขอบคุณ ส.ว.ที่เห็นชอบร่าง เพราะ พ.ร.บ.ฯ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ขับเคลื่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
สำหรับข้อคิดเห็นข้อแนะนำ ข้อเสนอรวมทั้งความห่วงใยที่สมาชิกเสนอแนะไว้นั้น รัฐบาลขอรับไว้และนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้เงินงบประมาณให้มากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณาของ ส.ว. ปรากฎว่ามี ส.ส.ถูกร้องเรียนว่ามีการเสียบบัตรลงมติแทนกันในชั้นที่ประชุมสภาฯ ก่อนถึงวาระพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งล่าสุด (21 ม.ค.2563) นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ แถลงข่าวผลการตรวจสอบพบว่าเป็นความจริง และระบุว่าตามรัฐธรรมนูญ จะเปิดโอกาสให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภาฯ (75 คน) เข้าชื่อต่อประธานสภาฯ เพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าการตรวจสอบดังกล่าวจะทำให้กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ล่าช้าหรือไม่ ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้โทรศัพท์สอบถามนายสรศักดิ์ ระบุว่า กระบวนการไม่ล่าช้า เพราะชั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ (ส.ส.) 105 วัน ผ่านไปแล้ว คือจบในวันที่ 11 ม.ค. และตนลงนามพร้อมกับส่งร่าง พ.ร.บ.ฯ ไปยังวุฒิสภาฯ (ส.ว.) ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.
ทั้งนี้ ส.ว. มีเวลาพิจารณา 20 วัน ซึ่งขณะนี้ใช้ไปเพียง 10 วันเท่านั้น ส่วนการชะลอร่าง พ.ร.บ.ฯ ไว้ 3 วัน เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.ฯ ไว้ก่อน จากนั้นจึงส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้าฯ ประกาศเป็นกฎหมาย ดังนั้นการตรวจสอบกรณีเสียบบัตรแทนกันจะไม่ทำให้การพิจารณางบฯ ล่าช้า หรือกระทบไทร์มไลน์ที่วางไว้