จากกรณีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดผลประทบต่อเนื่องในรอบปีนี้ ทำให้มีข้อเสนอจากภาคประชาชนให้ยุบกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และตั้ง Thailand EPA เพื่อให้การแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จและมีอำนาจในการทำงานที่คล่องตัวขึ้น
วันนี้ (24 ม.ค.2563) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การเสนอให้ประเทศไทยมีหน่วยงานระดับประเทศแบบเดียวกับสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency -EPA) หรือ "อีพีเอ"ของประเทศสหรัฐอเมริกา ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเด็นที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้น เพื่อหารือในหลักการว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่
ตอนนี้รับทราบข้อเสนอแล้ว ซึ่งอยู่ในแผนปฎิรูปหน่วยราชการ ซึ่งต้องยอมรับว่าหน่วยงานทางสิ่งแวดล้อมเกิดจากพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งผ่านมาเกือบ 28 ปีอาจจะไม่ทันกับสถานการณ์
นายจตุพร กล่าวว่า ในขณะนั้นตั้งหน่วยงานหรือกฎหมายที่รองรับ การวางรูปแบบองค์กรอาจจะสอดรับกฎหมายในขณะนั้น แต่เมื่อผ่านมาหลายปีจึงอาจจะต้องปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานใหม่ ซึ่งตอนนี้เป็นการบ้านที่ ทส.ต้องมาคิดปรับรูปแบบใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องมีรายละเอียดข้อมูลที่ชัดเจน เพราะเดิมกรมควบคุมมลพิษ เป็นแค่ REGULATOR ไม่มีอำนาจไปสั่งการใครได้ ส่วนที่หน่วยงานอื่นๆ กรมอื่นต้องรับไปดำเนินการ
ก่อนหน้านี้มีนักสิ่งแวดล้อม เสนอให้ยุบกรมควบคุมมลพิษ และตั้ง Thailand EPA ขึ้น หลังจากตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ภาพ: เฟซบุ๊ก Tara Buakamsri
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ฝุ่นพิษรุนแรง "กทม.-ปริมณฑล" กระทบสุขภาพ 60 พื้นที่
มติบอร์ดสิ่งแวดล้อมสั่งยกระดับแก้ฝุ่นพิษ
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) ที่ประชุมได้มีมติให้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการต่างๆ ที่หน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้ว โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้ามาในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครบริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษกในวันคี่ ตั้งแต่เวลา 06.00 - 21.00 น. ระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ.นี้ ส่วนวันคู่ให้เข้าได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด ตรวจวัดควันดำอย่างเข้มงวดกับรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) และรถบรรทุกทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ใน 50 เขต
นอกจากนี้ไม่ให้มีการเผาในที่โล่งและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำการเผา โดยในพื้นที่ต่างจังหวัดให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะไร่อ้อยในช่วงที่พื้นที่นั้นๆมีค่าฝุ่นละอองสูงจนกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งนี้ในวันที่ 28 ม.ค.นี้สภาพอากาศปิดและลมนิ่ง อาจส่งผลให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมในอากาศสูงขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตะกร้ากรองฝุ่น PM2.5 "ราคาถูก-มีประสิทธิภาพ"
"สุริยะ" สั่งเร่งแก้ปัญหามลพิษ ขอโรงงานลดกำลังการผลิต