ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรือนจำกลางบางขวาง มีกลุ่มนักโทษเฝ้าระวังพฤติกรรมต่อต้าน 273 คน

Logo Thai PBS
เรือนจำกลางบางขวาง มีกลุ่มนักโทษเฝ้าระวังพฤติกรรมต่อต้าน 273 คน
เรือนจำกลางบางขวาง เป็นสถานที่คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ โทษจำคุก 15 ปี ขึ้นไป จนถึงประหารชีวิต ปัจจุบันมีผู้ต้องขัง 5,770 คน ในจำนวนนี้โทษประหารชิวิต 182 คน ผบ.เรือนจำบางขวาง เผย มีนักโทษต้องเฝ้าระวัง 273 คน ส่วนสถิติคดีสูงสุดคือคดีทางเพศ

เฝ้าระวังนักโทษกลุ่มเสี่ยงพฤติกรรมต่อต้าน

หลังกำแพงเรือนจำกลางบางขวาง สถานที่คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ 5,770 คน โทษประหาร 182 คน ในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาด 60 คน คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ 107 คน และอยู่ระหว่างฎีกา 115 คน

นายมนตรี บุนนาค ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง เปิดเผยว่าผู้ต้องขังจำนวน 273 คน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมเป็นพิเศษ การคัดกรองคนกลุ่มนี้มีกระบวนการเริ่มต้น ตั้งแต่รับเข้ามาคือการคัดกรองสุขภาพกาย สุขภาพจิต จากนั้นคือเรื่องการประเมินความคิดการเป็นอาชญากร เพื่อประเมินความเสี่ยง จากนั้นเข้าสู่กระบวนการบำบัด

ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง ระบุว่าในคดีรุนแรงจะพบกลุ่มคนเหล่านี้ ในร้อยละ 70 ไม่ต่ำกว่านี้ ซึ่งจากประสบการณ์กลุ่มคนเหล่านี้เป็นลักษณะของคนที่มีปัญหาสุขภาพเรื่องของวิธีคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นกรณีคล้ายๆ กับอาชญากรต่อเนื่อง จะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) มีพฤติกรรมคิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่น ทำอะไรด้วยความรุนแรง ตัวเองถูกต้องเสมอ แม้แต่ชีวิตหลังกำแพงเรือนจำฯ พวกเขาก็ยังมีพฤติกรรมต่อต้าน เช่น การร้องเรียน

เตรียมเจาะพฤติกรรมในกลุ่มเสี่ยงรายบุคคล

ถามว่า แล้วจะมีกระบวนการอย่างไรกับคนกลุ่มนี้บ้าง เราพยายามทำครับจัดกิจกรรมพัฒนาจิตใจทำทุกอย่าง ในวันนี้เรากำลังจะเจาะลึกในพฤติกรรม เพราะว่าคนที่มีปัญหาใน 273 คน ตอนนี้ยังอยู่ที่นี่

“เราก็ต้องหาวิธีแก้โดยการทำกิจกรรมกลุ่มและอาจนำนักโทษบางคน แยกออกมาวิเคราะห์พฤติกรรม ปรับกระบวนการคิด เพื่อจัดทำเป็นกรณีศึกษา โดยจะต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ร่วม เพื่อหาวิธีแก้ไข  คนกลุ่มนี้มันจำเป็นต้องยอมลงทุนเพราะว่าถ้าคนเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข แล้วเราปล่อยตัวออกไปก็อาจทำความเสียหาย อาชญากรประเภทนี้ อาจจะทำลายชีวิตคนบริสุทธิ์อีกหลายคนมันไม่คุ้มนะครับ”

อีกกระบวนการหนึ่งคือ ประเมินความเครียด ทุกคนในคุกถือว่ามีความเครียด เราจะส่งต่อให้กับจิตแพทย์ทุกวันศุกร์ เพื่อพบแพทย์นี่คือกระบวนการบังคับของเรือนจำกลางบางขวาง ดังนั้นเมื่อมีการผิดวินัยเกิดขึ้นคือ มีการใช้ความรุนแรง หรือมีวิธีคิดไม่เหมือนคนอื่น จะให้ประเมินความเครียด


ฐานะ รูปลักษณ์ กับ อาชญากร

ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง อธิบายเรื่องนี้ว่า หากเอาตามหลักวิชาการ คนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี มั่นคง ก็จะมีตำแหน่งหน้าที่มาเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมตัวเองเอาไว้ ไม่แสดงอะไรออกมาให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองไม่ดีงาม แต่ว่าสิ่งที่มันซ่อนอยู่ในรูปร่างที่ดี เราต้องเรียนรู้จากพฤติกรรมในอดีต นิสัยในอดีตที่ผ่านมาก่อน รวมถึงให้ดูเรื่องกระบวนการในการเรียนรู้สังคม การอบรมสั่งสอน เลี้ยงดู

อย่างกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดลพบุรี จะเห็นได้ว่าคดีที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของผู้ก่อเหตุ แต่กระแสสังคมตอบกลับค่อนข้างรุนแรง เพราะหน้าที่การงานนั้นน่าจะเป็นแบบอย่างให้กับคนในสังคม เพราะเป็น ”พ่อพิมพ์” แต่ไปกระทำในรูปแบบอาชญากร รุนแรง นั่นหมายความว่า เรากำลังมองย้อนกลับไปว่าคนคนนี้โตมาอย่างไร

“ตำแหน่งหน้าที่ การเลี้ยงดูมันเป็นเกราะบางๆ ที่อยู่ข้างนอก เมื่อถึงจุดหนึ่งความคิดที่ตัวเองจะเอาชนะทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ของสังคมก็เลยระเบิดออกมา”

ซึ่งแน่นอนว่า ทุกคนมีสันดานดิบอยู่กับตัวเองอยู่แล้วที่ไม่แสดงออก เพราะมันเป็นเรื่องของกฎหมายบังคับ ประเพณีวัฒนธรรมบังคับ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดความพึงพอใจในสิ่งที่ตัวเองได้รับ หากได้แสดงออกมาโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์

เช่นเดียวกันกับ 273 คน ที่อยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง ถ้าจะช่วยสังคมภายนอก ต้องมีกรณีศึกษาเพื่อวิเคราะห์ออกมาว่า คนเหล่านี้ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร เรียนรู้อะไรทำไมถึงเป็นอาชญากรประเภทนี้ หากศึกษาคนกลุ่มนี้แล้วมาวิเคราะห์ถอดบทเรียนได้ ก็จะเป็นการปกป้องสังคมอีกทางหนึ่ง

“แต่แน่นอนว่า  ในความเป็นวิชาชีพในเรื่องจิตวิทยาไม่ใช่ใครก็ทำได้ทำ  แล้วผมอาจจะทำออกมาในรูปของคนที่ไม่รู้อย่างแท้จริงก็ได้  มันมีโอกาสผิดพลาดแต่ผมก็เชื่ออย่างหนึ่งว่าดีกว่าไม่รู้อะไรเลย  เราทำพยายามทำให้ดีที่สุดตามศักยภาพของเรา แต่หลังจากถ้าผมทำแล้ว  นักวิชาการมาดูแล้วศึกษาแล้วเห็นว่า ยังมีบางจุดที่ต้องทำต่อก็ได้ทางเราเปิดทางให้ขอแค่เราแก้ไขคนเหล่านี้ได้”


สิ่งที่เรียนรู้นำไปสู่ความเป็นตัวตน?

ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง แสดงความเห็นว่าการเปลี่ยนกระบวนการคิด เป็นเรื่องที่จะต้องทำ แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ อย่างที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ อาจคิดว่าคนเหล่านี้ เป็นแบบนี้เพราะการเลี้ยงดู ก็ถูกครับแต่นั่นคืออดีตไปแล้ว

“ปัจจุบันมันสำเร็จรูปในสมองหมดแล้ว ให้เราเทียบเคียงจากลูกเรา คนในครอบครัวเรา ที่เรียนรู้สิ่งต่างๆจาก YouTube และแสดงพฤติกรรมเลียนแบบ นั่นหมายถึงว่า สังคมที่โตนั้น เป็นตัวสั่งสอนเขาแทนตัวเรานะครับ”

อาชญากร จะเป็นใครก็ได้?

“ไว้ใจอะไรไม่ได้หรอกครับ คนแต่งตัวดีโหดเหี้ยมมากกว่าคนแต่งตัวไม่ดีก็มี Body type หรือ ลักษณะทางโครงสร้างพื้นฐานของร่างกายซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรม มันเป็นแค่องค์ประกอบอย่างหนึ่ง เรื่องของรูปร่างหน้าตาดี มันก็ทำให้เราตกหลุมพราง มือปืนในเรือนจำแห่งนี้ หน้าตาดีก็เยอะครับ”

ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง ยืนยันว่า ไม่มีใครที่เกิดมาเป็นโจร ยกเว้นว่าเขาเรียนรู้มาจากอะไรเท่านั้นเอง เรียนรู้จากภาพยนตร์ เรียนรู้จากคนรอบข้าง หรืออาจเรียนรู้จากเกมส์  พร้อมสะท้อนแง่มุมการใช้โทษหนักกับผู้กระทำความผิดด้วยว่า ส่วนตัวยังคงเชื่อว่า คนทุกคนแก้ไขได้ ถ้าบอกว่าทำผิดให้ตัดสินประหารชีวิตทันที ข่มขู่ยับยั้งได้แน่นอน แต่ถ้าหลังจากนั้น พบว่าเขาบริสุทธิ์เอาชีวิตคืนได้ไหม มันก็ไม่ได้

“ผมถึงบอกว่าการใช้โทษที่รุนแรงมันไม่ได้ตอบโจทย์ในทุกมิติ มันมีส่วนหนึ่งถ้าเป็นผู้บริสุทธิ์สั่งประหารชีวิตไปแล้วแก้ไขไม่ได้ เอาอะไรคืนให้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสิทธิในการทำลายชีวิตคนตามหลักสิทธิมนุษยชนไม่มีไอยู่แล้ว เพียงแต่เราให้เวลาทำลายศักยภาพเขาเท่านั้นเอง”

 

กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง