วันนี้ (25 ม.ค. 2563) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือประชาชน ณ วัดสีมาราม ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยมีกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ชุดแพทย์เคลื่อนที่ บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมเครื่องยนต์ และบริการตัดผม เป็นต้นพร้อมมอบนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดผลกระทบประชาชนผู้ประสบปัญหาภัยแล้งโดยเร่งด่วนและทั่วถึง
ในโอกาสนี้รองนายกรัฐมนตรียังเป็นประธานพิธีส่งมอบบ่อน้ำบาดาลให้กับประชาชนในพื้นที่ ก่อนเดินทางต่อไปยังประตูระบายน้ำท่าวังตาล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ภัยแล้งใน จ.เชียงใหม่ และแนวทางการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเดินทางไปเยี่ยมชมการขุดลอกสันดอนภายในลำน้ำปิง บริเวณประตูระบายน้ำท่าวังตาล ซึ่งประสบปัญหาตะกอนดินขวางทางน้ำในช่วงแล้ง และยังส่งผลให้การระบายน้ำในหน้าฝนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดำเนินการโดยหน่วยทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ จ.เชียงใหม่ ว่าปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำใช้การในอ่างฯ คิดเป็น 52% และอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาณน้ำใช้การ 24% ทั้งสองอ่างฯ มีการจัดสรรน้ำตามแผน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการควบคุมการจัดสรรรน้ำ ที่ สทนช.ได้ประสานกรมชลประทานดำเนินการก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสนับสนุนเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดฤดูแล้งนี้ และสนับสนุนการเกษตรฤดูแล้งที่เป็นเกษตรต่อเนื่องและบางพื้นที่เท่านั้น
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร จำนวน 3 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ทะลบหลวง (อำเภอไชยปราการ) อ่างเก็บน้ำแม่ตูบ (อำเภอดอยเต่า) และอ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ (อำเภอดอยหล่อ) กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกษตรกรถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้จากข้อห่วงใยของรัฐบาลพล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้คณะทำงาน กนอช.เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชน เช่น การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากแหล่งน้ำเข้าระบบประปาหมู่บ้าน การเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำ รถบรรทุกน้ำเพื่อแจกจ่ายน้ำ รวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคระยะเร่งด่วน
ซึ่ง ครม.มีมติจัดสรรงบกลาง เมื่อ 7 ม.ค. 63 ซึ่ง จ.เชียงใหม่ ได้รับการจัดสรรรวม 145 โครงการ ประกอบด้วย ขุดเจาะบ่อบาดาล 91 แห่ง จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 10 แห่ง และซ่อมแซมระบบประปา 44 แห่ง พร้อมดำเนินการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูฝนที่จะถึงด้วย อาทิ การขุดลอกลำน้ำปิงซึ่งเป็นลำน้ำสายหลัก ซึ่งกรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการ โดยมีแผนงานขุดลอกปี 2561-2572 จำนวน 53 แห่ง ระยะทางประมาณ 550 กม. ในปี 2561-2562 ขุดลอกแล้วเสร็จจำนวน 4 แห่ง รวมระยะทาง 24 กม. และในปี 64-72 อีกจำนวน 48 แห่ง ระยะทางประมาณ 500 กม.
เลขาธิการ สทนช.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไม่เพียงมาตรการลดผลกระทบภัยแล้งระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าเท่านั้น รัฐบาลยังได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับทรัพยากรน้ำในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย โดยผลดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ จ.เชียงใหม่ ปี 2561-2562 รวมทั้งสิ้น 1,462 โครงการ ดำเนินการโดย 12 หน่วยงาน สามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำรวม 6.07 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 80,202 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 102,284 ครัวเรือน เช่น การปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำห้วยลาน พร้อมระบบส่งน้ำ อ.สันกำแพง เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำขาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
สำหรับแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบประมาณปี 2563 จำนวน 83 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 25,294 ไร่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 7.82 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มแนวป้องกันตลิ่ง 4.92 กม. พื้นที่ได้รับการป้องกัน 14,640 ไร่และครัวเรือนรับประโยชน์ 10,906 ครัวเรือน อาทิ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปิง สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่หาน้ำยาก เป็นต้น และโครงการสำคัญ ในปี 2564-65 จำนวน 11 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 91.53 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ 93,669 ไร่ และ 36,495 ครัวเรือน
แบ่งเป็น แผนการดำเนินงานปี 2564 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่หอยและฝายสบร้อง แผนการดำเนินงานปี 2565 จำนวน 9 โครงการ อาทิ พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ Riverbank Filtration แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ปิง