วันนี้ (2 ก.พ.2563) กระทรวงสาธารณสุขแถลงความคืบหน้ากรณีโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่หายแล้วเพิ่มอีก 1 คน คือผู้ป่วยคนที่ 8 ซึ่งให้กลับบ้านแล้ว เท่ากับว่ายังมีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 11 คน และมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ (PUI) ตรวจวินิจฉัยเพิ่ม 38 คน เท่ากับว่ามีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ทั่วประเทศ 382 คน
ในจำนวนนี้ตรวจพบที่สนามบิน 40 คน และมาโรงพยาบาลด้วยตนเอง 332 คน ส่วนที่โรมแรมและสถานประกอบการแจ้งเข้ามา 10 คน และถึงขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตในประเทศไทย แต่มีผู้ป่วยได้รับเชื้อจากคนสู่คนรายแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์
การทำงานของไทยยังคงระดับมาตรฐานสูงสุด 3 ด้าน 1.การคัดกรองที่สนามบิน นอกจากคัดกรองเที่ยวบินจากจีนทุกเที่ยวบิน ได้เพิ่มการคัดกรองเที่ยวบินจากไทยไปจีนด้วย 2.โรงพยาบาลรัฐและเอกชน มีการรายงานผู้ป่วยเข้าเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเอกชนที่มีต่างชาติเข้ารับบริการมาก และ 3.โรงแรมและผู้ประกอบการช่วยติดตามสถานการณ์มากขึ้น รวมถึงสหรกรณ์แท็กซี่ที่ให้ความรู้กับคนขับรถมากขึ้น
แนะ "แท็กซี่" ล้างรถบ่อย ลดเสี่ยงโรค
นพ.โสภณ กล่าวว่า กรณีคนขับรถแท็กซี่ ขอแนะนำให้ดูแลรถและตนเองอย่างง่าย โดยการเช็ดล้างรถบ่อยๆ โดยเฉพาะเบาะที่เป็นพลาสติก สามารถใช้น้ำผสมสบู่เช็ดได้เลยและเช็ดน้ำเปล่าตาม ส่วนกรณีเจอสารคัดหลั่ง เช่นลูกค้านจามหรือมีน้ำมูก-น้ำลาย อาจใช้แอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดได้ หรืออาจใช้สารละลายคลอรีนผสมน้ำทำความสะอาด ซึ่งเหมาะกับสหกรณ์แท็กซี่ที่มีพื้นที่เช็ดล้างและระบายอากาศ
ส่วนระหว่างที่มีผู้โดยสาร หากมีการไอจาม ก็ควรเปิดหน้าต่างระบายอากาศด้านหน้า-หน้าหลังรถ ซึ่งเชื่อว่าชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวจีนจะเข้าใจ
ส่วนกรณีรับคนไทยในอู่ฮั่นกลับไทย ขอยืนยันตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข แถลงข่าว คือการสร้างสมดุลระหว่างการรรับคนไทยมาสังเกตอาการ และต้องดูแลคนไทยที่อยู่ในไทยไม่ให้ป่วย ซึ่งตามมาตรฐานต้องกักตัวไว้ 14 วัน ซึ่งไม่เกิน 7 วัน ก็จะเห็นผล
สำหรับสถานที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกัน ซึ่งโดยหลักการคือคนไทยที่กลับมาจะมีพื้นที่ที่สะดวกสบายระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่สัมผัสผู้อื่น ซึ่งการประชุมวันนี้คงมีข้อสรุป
คาดมีผู้ติดเชื้อแค่ 5% จากผู้เข้าเกณฑ์ 382 คน
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามตัวเลขผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ที่เพิ่มเป็น 382 คน ทำให้มีผลกระทบต่อการทำงานที่ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ดังนั้นคนที่รู้สึกเสี่ยง แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ก็ไม่ขอแนะนำให้ตรวจ เพราะทรัพยากรที่ใช้ในการตรวจมีจำกัด
ทั้งนี้กรณีที่ผู้เข้าเกณฑ์ตรวจพบว่าติดเชื้อ ภาครัฐจะเป็นรับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อแต่ต้องการตรวจก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
สำหรับการตรวจผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ สรุปเบื้องต้นส่วนใหญ่มักพบอยู่ที่ 5% ส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ก็จะตรวจสอบต่อว่าถ้าไม่ใช่เชื้อไวรัสโคโรนา ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร ซึ่งจะดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด แต่ขอแนะนำว่า ต่อให้ตรวจแล้วแต่หากกลับไปแล้วมีไข้สูงก็ขอให้กลับเข้ามาตรวจซ้ำ
ไม่ฟันธง! สาเหตุผู้ป่วยที่เชียงใหม่ ตรวจ 2 ครั้งแรกไม่พบ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีผู้ป่วยที่ จ.เชียงใหม่ ตรวจ 2 ครั้งแรกไม่พบ แต่พบเมื่อเป็นปอดบวม เป็นเพราะเหตุใด นพ.ทวี ตอบว่า มีความเป็นไปได้ 3 ทาง คือ 1.มีความเป็นไปได้ว่าช่วงแรกผู้ป่วยมีเชื้ออื่นร่วมด้วย แต่ไวรัสโคโรนาอยู่ระหว่างการเพาะตัว แล้วเพิ่งแสดงอาการภายหลัง
2.การเก็บตัวอย่างในตอนแรกอาจไม่ดีพอ เพราะสิ่งที่จะบอกได้ดีที่สุดคือ “เสมหะ” ไม่ใช้น้ำมูก ซึ่งตัวอย่างที่เก็บได้ต้องมีคุณภาพมากพอ และ 3.เชื้ออาจอยู่ระหว่างการฟักตัว เช่น ตอนแรกตรวจแล้วเป็นเนกะทีฟ ตอนหลังเป็นโพสิทีฟ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในขณะนี้ยังยืนยันไม่ได้ “ตอบไม่ได้”
นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจกลุ่มเสี่ยงในการ “สัมผัส” คำว่า “สัมผัส” ไม่ได้แผลว่าต้องสัมผัสโดยตรงเท่านั้น แต่หมายถึงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมเดียวกันกับผู้ป่วยในช่วงระยะเวลามากพอสมควร เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโครานาเคยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยในระยะ 1-2 เมตร ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นผู้ป่วยเหล่านี้จะเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ไปด้วย ต้องเฝ้าระวังอย่างน้อย 14 วัน
เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่เข้าข่ายต้องสงสัยด้วยเช่นกัน ส่วนกรณีผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมดังกล่าวจะไม่เข้าสู่ระบบข้างต้น
ส่วนความเป็นไปได้ที่เชื้ออื่น 2 เชื้อขึ้นไป จะอยู่ในตัวผู้ป่วยคนเดียวกันนั้นเป็นไปได้หรือไม่ นพ.ทวี ตอบว่า 2 เชื้อเกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเป็นไปได้ เพราะเคสผู้ป่วย 9 คนแรก พบว่ามีเชื้ออื่นรวมอยู่ด้วย ซึ่งเชื้อที่ไม่ก่อโรครุนแรงอาจไม่ออกอาการก็เป็นไปได้
“ฉะนั้นช่วงแรกการคัดกรอง เราตรวจเชื้ออื่น ตอนนี้เพิ่มเยอะแต่ละแล็บ ตรวจแล็บค่าใช้จ่าย 5-6 พันบาท ซึ่งไม่ตอบโจทย์
โจทย์เราคือไวรัสโคโรนา จึงต้องหาเชื้อนั้นก่อน ซึ่งหาตรวจไม่เจอ คุณจะย้อนกลับไปตรวจหาโรคอื่นก็ได้ อย่างกรณีฮ่องก่องที่เกิดขึ้นพร้อมกับเรา ตรวจสอบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ มีอย่างน้อย 30%ที่เป็นไขหวัดใหญ่ เพราะที่จีนก็ระบาดเหมือนกัน แต่ประเทศไทยมีน้อยกว่าจีน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว และได้รับเชื้อนี้เข้าไปจะเป็นไปได้หรือไม่ นพ.ทวี ตอบว่า ถ้า 2 เชื้ออยู่ที่เดียวกันจะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น แต่หากเกิดขึ้นจริง แพทย์ก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่าทำไมโชคร้าย และมองว่าอาจจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ภูมิคุ้มกันไม่ดี รับสเตอรอยด์ มีโรคประจำตัว หรือมีอายุมาก ฯลฯ เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันยิ่งต่ำ
ไม่หวั่นพบ "ไข้หวัดนก" ระบาดในจีน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก H5N1 ที่มณฑลหูหนาน (ใกล้กับมณฑลหูเป่ย ที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา) นพ.ทวี กล่าวว่า ไข้หวัดนกต้องงัดตำราเดิม เมื่อเจอเชื้อในสัตว์ปีกต้องทำลายทั้งหมด รวมถึงดูเมืองใกล้เคียง ถ้าพบก็ต้องทำลายทั้งหมด
เป็นไปไม่ได้ที่ไข้หวัดนกจะผสมกับโคโรนา มันเป็นคนละพวกกัน อยู่คนละกลุ่ม แต่ก่อโรคใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้กรณีของประเทศไทย เคยมีประสบการณ์แล้วเมื่อ 5 ปีก่อน มีอัตรากายเสียชีวิต 66% ซึ่งโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง จะมีการแพร่ระบาดไม่เท่ากับโรคที่มีอัตราเสียชีวิตต่ำ เพราะผู้ป่วยสามารถเดินทางไปในที่ต่างๆ และแพร่เชื้อได้