วันนี้ (4 ก.พ.2563) นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานวิปฝ่ายค้าน (ประธานวิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่วิปรัฐบาล ยื่นหนังสือต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ฝ่ายค้านแก้ไขญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยอ้างอิงว่าญัตติเป็นเท็จว่าเรื่องการพิจารณาญัตติเป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัย
พร้อมชี้แจงข้อความที่ระบุถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าฉีกรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพียงภาษาพูด หรือภาษาทางการอาจใช้ว่า “ล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีความหมายเดียวกัน การตีความรุนแรงเท่ากัน พร้อมย้ำข้อความตามญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นเป็นข้อเท็จจริง แต่รัฐบาลไม่ยอมรับความจริง ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีสาระเพียงพอที่จะหยิบยกมาเป็นประเด็นในการแก้ไข
ประธานวิปฝ่ายค้านชี้ว่าเนื้อหาสาระของการอภิปรายฯ ต้องไปพิจารณากระทงความผิดว่า เกิดการกระทำความผิดเกิดช่วงใด ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกิดในรัฐบาลนี้ทั้งนั้น และเพื่อให้เกิดการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจอาจต้องย้อนข้อมูลไปบ้าง เช่น กรณีการล้มล้างรัฐธรรมนูญพยายามจะชี้ว่าปัญหาที่เกิดในปัจจุบันหลายเรื่องเกิดจากการบังคับใช้ตีความ
รัฐบาลตั้งใจจะใช้ประเด็นเรื่องการอภิปรายจะเท้าความ ไปยังรัฐบาลยุคก่อนการเลือกตั้งมาขัดจังหวะการทำงานของฝ่ายค้าน โดยวันพรุ่งนี้ (5 ก.พ.) จะมีการหารือระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้าน และรัฐบาล ซึ่งฝ่ายค้านยืนยันจะทำตามข้อบังคับและกฎหมาย ทั้งนี้หากจะเลือกวันอภิปรายฯ ในวันที่ 10 ก.พ.นี้ทางฝ่ายค้านก็พร้อม
ส่วนความคืบหน้าในการเตรียมพร้อมการอภิปรายของฝ่ายค้านนั้น ให้ ส.ส.ที่จะอภิปรายเสนอกรอบเวลาที่จะอภิปราย จากนั้นจะพิจารณาหลังจากได้กรอบเวลาที่ชัดเจน ส่วนกรณีที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเศรษฐกิจใหม่จะขอเวลา 4 ชั่วโมงสำหรับการอภิปรายนั้นจะต้องดูความเหมาะสม เพราะหลายคนมีเนื้อหาที่จะอภิปรายเป็นซีรี่ส์ อาจทำให้นายมิ่งขวัญ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก ซึ่งการอภิปรายเน้นหนักไปที่ พล.อ.ประยุทธ์
ทั้งนี้ ตัวเลือกที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอมาคือวันอภิปราย 25 - 27 ก.พ. และลงมติ 28 ก.พ. แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าวันที่เหมาะสมน่าเป็นวันที่ 19 - 21 ก.พ. และลงมติ 22 ก.พ. แต่ฝ่ายค้านเชื่อว่ารัฐบาลจะบีบช่วงเวลาไปใกล้กับวันสิ้นสมัยประชุม ซึ่งเป็นการบังคับทางอ้อมขัดต่อเจตนารมณ์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือหากอภิปรายวันที่ 28 ก.พ.ไม่เสร็จสิ้น ทำให้ต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญหรือไม่ มองว่ารัฐบาลไม่ควรใช้วิธีนี้