วันนี้ (5 ก.พ.2563) นายมนูญ เจริญลอย กัปตันแอร์เอเชีย ได้เปิดเผยเบื้องหลังภารกิจ 18 ชั่วโมง ช่วยคนไทยกลับจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ผ่านเฟซบุ๊ก Manoon Jarornloy โดยระบุว่า "ผมไม่ใช่ฮีโร่" หลายคนที่รู้จักผม ตอนเช้าของวันที่ 4 ก.พ.คงรู้แล้วว่า ผมเป็นคนบินไปรับคนไทยในอู่ฮั่น (WUH) เพราะสื่อต่างๆ ออกข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะมาก และเผอิญมีภาพบางภาพในข่าว มีติดรูปผมไปด้วยทั้งที่ตามแผนของคณะทำงานที่มีกระทรวงต่างประเทศเป็นแม่งาน ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
สั้น เงียบ ใช้คนน้อยสุด คือสิ่งที่ตกลงกันไว้ แต่อย่างว่า บางอย่างก็เหนือการควบคุม
ตอนไวรัสโคโรนาเริ่มระบาดทางด่านควบคุมโรคดอนเมืองได้ทำงานร่วมกับสายการบินในการตรวจคนที่มาจากอู่ฮั่นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ข่าวจะดัง สายการบินเราจากปกติที่ทำการฆ่าเชื้อตามวงรอบก็มาทำถี่ขึ้น และกลายเป็นทำทุกเที่ยวบินทันที ที่กลับจากอู่ฮั่นก่อนนำไปใช้ต่อ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า เครื่องสะอาดแน่ๆ สำหรับผู้โดยสารทุกคน
การตรวจผู้โดยสารมีเฉพาะขาเข้าแต่คิดว่าไม่พอ และเป็นปัญหาที่ปลายทาง ถ้ามีคนที่มีไข้ แม้ไม่ได้เป็นไข้หวัดอู่ฮั่นก็ตาม รวมทั้งเราต้องการความมั่นใจว่าผู้โดยสารคนอื่น รวมทั้งน้องๆ พนักงาน จะปลอดภัยในการโดยสารกับเรา ทีมงาน Exit Screen จึงเกิดขึ้น อย่างฉุกละหุก ด้วยความร่วมมือของน้องๆ นักบินที่เป็นหมอ น้องๆ ลูกเรือที่เป็นพยาบาลโดยหัวหน้าลูกเรือและทีมในแผนกเป็นกำลังหลัก พนักงานภาคพื้นที่ด้านความปลอดภัย (security GS) รวมทั้ง Safety ด้วย
หมอป๊อกกับทีมแพทย์ 4 คน ที่เป็นนักบินของเรา ทั้งเป็นกำลังหลักในการตรวจและทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้น้องๆ ในทีม ก็ไม่สามารถมาได้ทุกวัน เพราะเราต้องทำระยะยาว ผมเลยเรียนปรึกษา CEO เพื่อที่จะจ้างพยาบาลมาช่วย ระหว่างนั่งทำงานรอครูม้ง ซึ่งเป็น HFO ของเราเดินมาหา บอกว่า CEO เรียกพบ
- พี่ต๊อกบอกว่า เราอาจต้องทำเที่ยวบินรับคนไทยจากอู่ฮั่น คิดว่าไง ม้งพูดกับผมระหว่างเดินไปห้องทำงาน CEO
- กำลังคิดเรื่องนี้พอดี ว่าทำไมรัฐบาลไม่เอาคนออกมาไม่มีปัญหาหรอก เดี๋ยวบินเอง ผมบอกกะม้ง
- งั้นบินด้วยกัน จะได้ตัดปัญหา ไม่ต้องเอาคนอื่นไปเสี่ยง ม้งบอกผมก่อนเข้าห้อง CEO
- พี่รัฐบาลขอความร่วมมือมาให้เรารับคนไทย จากอู่ฮั่นพี่ว่าไง พี่ต๊อกเอ่ยขึ้น
- พร้อมครับ ม้งตอบ เดี๋ยวผมสองคนบินเอง น้องลูกเรือก็ไม่น่ามีปัญหา
- งั้นผมตอบตกลงเขาไปนะ น่าจะประมาณวันที่1-2 เราพร้อมนะ พร้อมครับ เราตอบพร้อมกัน
วันรุ่งขึ้น มีการประชุมด่วนกับคณะทำงานของรัฐบาลที่มีทั้งทีมแพทย์ ท่าฯ ตม. ทหาร ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เราแบ่งหน้าที่กันทำตามความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ส่วนวันเวลานั้น รอคอนเฟิร์มจากจีน ต่อมาในวันที่ 2 ก.พ. มีการประชุมวางแผนละเอียดอีกครั้ง หลังได้รับไฟเขียวจากจีน ว่าคือวันที่ 4 ก.พ. การนัดหมายโหลดของการเดินทาง สถานที่รับตัวคนไทย ถูกสรุปในวันนั้นและทุกอย่างถูกกำชับให้เป็นความลับแต่มีคนเงยหน้ามาบอกว่า ทุกคนรู้แล้ว ว่าเราจะไปลงอู่ตะเภา ข่าวลงแล้ว
ทีมแพทย์ - ลูกเรือ ดูแลร่างกายและจิตใจ 138 คนไทย
วันที่ 3 ก.พ. ทางทีมแอร์เอเชีย ถูกนัดหมายให้ไปซ้อมการใส่ขุดป้องกัน (PPE) เพราะหมอบอกว่า การใส่น่ะง่าย แต่การถอดอาจทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งการซ้อมรอบเช้ายังไม่สมบูรณ์ เพราะขั้นตอนการคัดกรองผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ต้องให้ลูกเรือช่วย เราจึงต้องบรีฟกันอย่างละเอียด และเราต้องเข้าพบนายกฯ ในตอนบ่าย ก่อนที่น้องๆ จะกลับไปซ้อมอีกรอบ
เช้าวันที่ 4 ก.พ. วันออกเดินทาง เวลา 07.10 น. ผมนัดลูกเรือ ทีมแพทย์ 7 คน และเจ้าหน้าที่ กต. 2 คน บรีฟขั้นตอนสุดท้าย เวลา 05.10 น. ใครจะรับผิดชอบอะไรตอนไหนและสายงานบังคับบัญชาภายในเครื่องบิน (chain of command) ใน cabin เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในขากลับ
เมื่อประตูเปิดที่อู่ฮั่น ขอให้ลูกเรือเชื่อฟังคุณหมอ ซึ่งนำโดย ผอ.ของสถาบันบำราศนราดูร เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโดยไม่ตั้งใจ แต่เมื่อประตูปิดแล้ว การสั่งการเป็นหน้าที่ของหัวหน้าลูกเรือ จนกว่าเครื่องจะจอดสนิทที่ปลายทาง (sign off) คุณหมอถึงกลับมานำอีกครั้ง เกิดมีผู้ป่วยฉุกเฉินบนเครื่อง หมอเป็นคนสั่งการ แต่ถ้าเกิดกรณีฉุกเฉินให้ลูกเรือเป็นคนสั่งการทั้งหมด ผมบรีฟคร่าวๆ
ก่อนขึ้นเครื่อง รมต.สาธารสุขมาส่งที่เครื่อง มีการถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เราลงจอดที่ WUH เวลา 11.15 น. ตามเวลาทองถิ่น เรารีบกินข้าว และทำธุระส่วนตัว ก่อนที่จะบอร์ดผู้โดยสาร เพราะหมอบอกหลังจากนั้น เราจะไม่สะดวกอีก เราใช้เวลาคัดกรองและบอร์ด เกือบ 6 ชั่วโมง ซึ่งยาวนานมาก ผมกับอั๋นและ Engineer เก็บตัวในห้องนักบิน น้องๆ ลูกเรือ ช่วยหมอในการจัดที่นั่งผู้โดยสารและออกที่นั่งให้
ทำไมต้องทำขนาดนั้น?
- เราต้องมั่นใจว่า คนที่อาจมีอาการ หรือติดเชื้อ ต้องถูกแยกไปนั่งต่างหาก และใช้ห้องน้ำที่แยกไว้ให้
- คนที่มีแข็งแรงแต่อยู่พื้นที่เสี่ยง ต้องนั่งอีกโซน
- กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มเสี่ยงน้อย จะจัดนั่งข้างหน้า
ผมงีบรอในห้องนักบินครับ แต่ตื่นขึ้นมาทีไร ผมก็ยังเห็นน้องๆ ทั้งหมอ และลูกเรือ ทำงานด้วยความร่าเริงตลอดเวลา มีการเอนเตอร์เทนผู้โดยสารตลอดเวลา คุณคิดดูว่า ในมุมของผู้โดยสารคนแรก ต้องรอคนสุดท้ายเกือบ 6 ชั่วโมง มันน่าเบื่อขนาดไหน
การบอร์ดอันยาวนานสิ้นสุดลง เราเริ่มขออนุญาตถอย และทำการวิ่งขึ้น สนามบินที่เคยคับคั่งไปด้วยเครื่องบินจากนานาประเทศ ตอนนี้เป็นของเราคนเดียว
ขอพูดถึงทีมแพทย์ชุดนี้ เจ้าหน้าที่ กต. รวมถึงน้องๆ ลูกเรือของเรา ต้องขอบอก พวกเขาสุดยอด ทั้งความรู้ การเตรียมการ การทำตามแผนและนอกแผน
หลังจากการตรวจอันยาวนานตอนแรกเราจะให้ผู้โดยสารแค่น้ำ 2 ขวด แซนวิช เจลล้างมือ ซึ่งจะวางไว้ที่ที่นั่ง ก่อนจะบอร์ดผู้โดยสาร เพื่อลดขั้นตอนการบริการ ในแผนจะไม่มีการบริการอาหารร้อน แต่ด้วยเวลาที่ทอดยาวออกไป ผู้โดยสารมารอแต่เช้าและไม่มีอะไรขายที่สนามบิน อาหารที่เราโหลดมาเพื่อใช้ในกรณีไดเวิร์ดถูกนำมาใช้จนเกลี้ยง
โชคดีจริงๆ ที่เราคิดถึงกรณีนี้ไว้ ตามข้อเสนอของปุ้ม หัวหน้าลูกเรือ เพราะถ้าเราไปลงสนามบินกลางทาง ในกรณีฉุกเฉิน ไม่มีใครให้เราลงจากเครื่องแน่ เราควรมีน้ำ และอาหารสำรอง ก่อนเครื่องสำรองฉุกเฉิน (Rescue) จะมารับ จากแผนไม่เสิร์ฟระหว่างเที่ยวบิน ต้องมาให้บริการอาหาร-เครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน (Full service) น้องๆ ลูกเรือ ต้องอุ่นอาหารแบบด่วน
ทายสิครับ ใครจะเป็นคนเสิร์ฟ ทีมหมอ และพยาบาลสิครับ แม้แต่ ผอ.บำราศนาดูร ก็ได้ทดลองอาชีพสจ๊วตครั้งแรก คุณหมอ พยาบาล ที่ข้างล่าง คนเรียกอาจารย์ วันนี้ต่างทำหน้าที่บริการอาหารอย่างแข็งขัน
เรามีหมอจิตเวช และเจ้าหน้าที่ กต.ไปด้วย ทุกคนช่วยกันเอนเตอร์เทนผู้โดยสารตลอดเวลา เพื่อลดความเครียด ที่รอกลับบ้านเป็นเวลานาน ทุกคนทำหน้าที่ของตนอย่างสุดยอดจริงๆ เราลงที่อู่ตะเภาและตามคาด มีคนมากมายมารอทำข่าวและคุณหมอก็ได้ทำหน้าที่สุดท้ายของตนเองบนเครื่องบิน คือ ทำความสะอาดเครื่องบิน เก็บขยะลงถุงปลอดเชื้อ พ่นสเปร์ยฆ่าเชื้อ ก่อนทีมฆ่าเชื้อของฝ่ายช่างแอร์เอเชียจะมาทำซ้ำอีกรอบ
ผมยอมรับในหัวใจของคุณหมอ และ กต. ชุดนี้จริงๆ ทำงานหนักตลอดวัน อย่างมีพลังและร่าเริงตลอดเวลา ลูกเรือผมก็เช่นกัน ถ้าจะมีใครถูกเรียกว่าฮีโร่ นั่นคือพวกเขาครับ จบการทำงาน 18 ชั่วโมงอันยาวนานครับ