" ยังมีคนเลวๆ ชอบไปบิดเบือน ชอบทำให้เกิดปัญหา ผมคิดว่า ต้องทำงานสร้างสรรค์ได้แล้ว ไม่ว่า จะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล อะไรก็แล้วแต่ วันนี้บ้านเมืองกำลังมีปัญหาอยู่ ท่านก็จะเล่นการเมืองกันอยู่แบบเดียว ผมว่ามันไม่ถูก เพราะนี่คือประเทศของท่านด้วย หรือไม่ใช่ประเทศของฝ่ายค้าน " พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุ
" ประยุทธ์ฟาดหัวหาดหางใส่ฝ่ายค้านนี่ ผมว่าเพี้ยนไปแล้ว ก็คุณไม่แก้ปัญหาอะไรเลย เขาวิจารณ์ก็ถูกแล้ว หน้ากากที่ว่ามีขายน่ะอยู่ไหนประยุทธ์ "
วิวาทะนี้อาจไม่ได้สื่อสารกันโดยตรง ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ประเด็นปัญหาไวรัสโคโรนา และผลกระทบมากมายที่เกิดขึ้นตามมา ในวันนี้ที่ไทยติดอันดับประเทศพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่ง และโลกที่ยังไม่ยืนยันว่าต้องใช้เวลามากแค่ไหนเพื่อจัดการกับไวรัสตัวนี้
หน้ากากขาดแคลนและราคาแพง แก้โดยการควบคุมราคาอย่างเดียวไม่ได้ผล ต้องสั่งซื้อจำนวนมากให้โรงงานผลิตแล้วรัฐบาลแจกประชาชน แต่ต้องแก้ปัญหาแรกก่อนคือนายกฯบอกว่าหาซื้อได้ทั้วไปไม่แพง เพราะฉะนั้นจะแก้ปัญหาได้ต้องเอาตัวนายกฯไปรักษาเสียก่อน #ประยุทธ์เพ้อเจ้อ #หน้ากากไม่มีขาย
— Chaturon/จาตุรนต์ (@chaturon) February 4, 2020
ไม่แปลกหากนายกรัฐมนตรี จะมองสถานการณ์ขณะนี้ ว่ามี “ไวรัสการเมือง” ปะปน เพราะตั้งแต่กระแสเชื้อระบาด ข่าวปลอมทำงานอย่างเข้มแข็งไร้สำนึก หวังทำลายล้างความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุข
แต่ปฏิเสธไม่ได้ ว่ารัฐบาลเองก็ถูกวิจารณ์หนัก หลังไม่มีมาตรการเด็ดขาด เพื่อจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาด หรือเปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันอย่างทั่วถึง
เพราะแม้จะเป็นสินค้าควบคุมราคา แต่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม คือภาพหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ มีวางขายตามร้านค้าไม่ขาดตลาด ไม่โก่งราคาขูดรีดเอาเปรียบ
“ผู้มีอำนาจประชุมในห้องแอร์จบแล้วก็นั่งรถส่วนตัวกลับบ้าน ไม่ต้องรอรถเมล์ ไม่ต้องคิดเรื่องเงินซื้อหน้ากากป้องกัน” ส.ส.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งอนาคตใหม่ พูดถึงหน้ากากในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 ปกคลุมเมือง ยังไม่เห็นภาพการทำงานของกลไกธงฟ้าประชารัฐ หรือบัตรสวัสดิการมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
เพราะแม้จะย้ำมาตรฐานโลกด้านสาธารณสุข แต่รูปธรรมแห่งการแก้ปัญหา คือภาพควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิภาพ
“ปัจจุบันมาตรการที่เรามี ถือว่าเข้มงวดมากแล้ว เพราะอย่างไรเสีย ตราบใดยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ตรงไปตรงมา แต่หากเมื่อไหร่ที่เราไม่ได้รับความร่วมมือกับนักท่องเที่ยวที่ดีพอ ก็เชื่อว่าผู้บริหารประเทศอาจต้องมีการปรับมาตรการในการควบคุมขึ้น”
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ แห่งกรมควบคุมโรค พูดถึงการหลั่งไหลของผู้คน ที่อาจนำพาเชื้อไวรัสมาด้วย
ยังไม่เห็นมาตรการเชิงรุก ทำได้เพียงรอนักท่องเที่ยวซึ่งเดินผ่านจุดคัดกรองเข้าประเทศมาแล้ว จะปฏิบัติตาม “ใบเตือน” เมื่อมีอาการป่วยเท่านั้น ข้อสังเกตเชิงการเมืองหนึ่ง หากไทยมองว่าการวางตัวแบบฉันท์มิตรประเทศ จะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
ลองพิจารณาถึงชาติอื่นที่จำกัดการเดินทางและออกมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดมากกว่า แต่กลับประสานงานและพาพลเมืองของตัวเองออกจากพื้นที่โรคระบาดได้ก่อน
หลายประเทศดังกล่าวไม่อาจนับเป็นมหามิตรได้เลย หากดูประวัติที่ทั้งก่อสงครามการค้า มีข้อพิพาทเรื่องดินแดน หรือแค้นเคืองกันมาตั้งแต่สมัยสงคราม และอะไรคือเครื่องรับประกัน ว่าหากสถานการณ์สงบ ไทยจะได้เลื่อนอันดับขึ้นเป็นเพื่อนรักหมายเลข 1 ในโลกแห่งการเมืองที่ล้วนมีผลประโยชน์เป็นตัวชี้วัด
แต่ปัจจุบัน ในภาวะที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไวรัสปะปนมากับลมหายใจหรือสารคัดหลั่งหรือไม่ ประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำจึงไม่อาจมั่นใจในความปลอดภัยได้ และไม่ว่ารัฐบาลจะตั้งใจสื่อสารมันออกมาหรือไม่ แต่คำตอบที่ถูกส่งกลับมายังผู้คนคือ “ให้ดูแลตัวเอง”
หากเป็นการเมือง ไวรัสได้สะท้อนภาพปัญหาหลายประการที่กำลังมืดมัวหมองหม่น แต่หากเป็นความรัก ไวรัสกลับสะท้อนภาพปัญหาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ระหว่าง “คนที่ดูแลเรา” กับ “คนที่บอกให้เราดูแลตัวเอง”
เรื่อง : จตุรงค์ แสงโชติกุล