ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฝนถล่มซิดนีย์หนักสุดรอบ 30 ปี ช่วยดับไฟป่าออสเตรเลีย

ต่างประเทศ
11 ก.พ. 63
08:40
1,087
Logo Thai PBS
ฝนถล่มซิดนีย์หนักสุดรอบ 30 ปี ช่วยดับไฟป่าออสเตรเลีย
ซิดนีย์ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 30 ปี ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องก็ช่วยดับไฟป่ากว่า 30 จุดในรัฐนิวเซาท์เวลส์ หลังสถานการณ์ไฟป่าวิกฤตต่อเนื่องในหลายพื้นที่

วันนี้ (11 ก.พ.2563) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ซิดนีย์ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 30 ปี ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยหน่วยงานด้านสภาพอากาศของออสเตรเลีย ระบุว่า ช่วง 4 วันที่ผ่านมา ฝนตกในซิดนีย์สูงถึง 391.6 มม. ซึ่งมากกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ในเดือน ก.พ.

ขณะที่บ้านเรือนประชาชนประมาณ 100,000 หลังคาเรือนอาจได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง โดยหน่วยบริการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประกาศเตือน ภัยฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แม้ประชาชนในหลายพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน แต่ปริมาณน้ำฝนก็ได้ช่วยดับไฟป่าในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เหลือพื้นที่ที่ยังคงมีไฟป่าลุกไหม้อยู่เพียง 17 จุดทั่วรัฐนิวเซาท์เวลส์

 
บริการดับไฟในชนบทของนิวเซาท์เวลส์ (NSW Rural Fire Service) กล่าวว่า ฝนที่ตกลงมาตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ช่วยดับไฟได้มากกว่า 30 จุดนับเป็นข่าวดีที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก็ได้ช่วยดับไฟป่าในพื้นที่ภูเขากอสเปอส์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซิดนีย์ ซึ่งลุกไหม้ตั้งแต่เดือน ต.ค.ลุกลามพื้นที่ 512,000 เฮกตาร์และได้รับการพิจารณาว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่เกิดไฟป่าและยากเกินกว่าจะดับได้

นอกจากนี้ ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไฟป่าที่เคอร์โรวัน ที่โชลฮาเวนก็ถูกดับเช่นกัน หลังลุกไหม้มานาน 74 วัน ทำลายพื้นที่ป่าไปเกือบ 500,000 เฮกเตอร์และส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชน 312 หลัง

 
ขณะที่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ได้เผยแพร่ประกาศ กรมอุตุนิยมวิทยานิวเซาท์เวลส์ เตือนฝนตกหนักและลมแรงในพื้นที่แนวชายฝั่งตะวันออกของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ตั้งแต่ช่วงค่ำวันอาทิตย์ไปจนถึงวันจันทร์ โดยอาจส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นในบางพื้นที่

ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ขอให้ชาวไทยเดินทางสัญจรด้วยความระมัดระวัง ดูแลสุขภาพ และควรพกร่มหรือเสื้อกันฝนตลอดสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารสภาพอากาศได้ที่เว็บไซต์ http://www.bom.gov.au/nsw/warnings หรือทวิตเตอร์ @BOM_NSW

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง