13 ก.พ.ของทุกปี ตรงกับ "วันรักนกเงือก" นกชนิดสำคัญที่พบในไทยทั้งหมด 13 สายพันธุ์ สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เพราะนกเงือกเป็นนักปลูกป่า ด้วยการกินผลไม้สุกเป็นอาหารมากกว่า 300 ชนิด นำพาเมล็ดพันธุ์งอกกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ แต่กลับเกิดข่าวสะเทือนใจของนักอนุรักษ์เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบการล่านกชนหินในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตายถึง 4 ตัว ทำให้เจ้าหน้าที่และนักอนุรักษ์ในหลายพื้นที่ที่เป็นถิ่นอาศัยของนกสำคัญชนิดนี้ ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อปกป้องคุ้มครองและรักษาลมหายใจของนกเงือก
วันนี้ (13 ก.พ.2563) เกรียงศักดิ์ ศรีบัวรอด หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า คลองแสง-เขาสก เป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก โดยสำรวจพบนกป่า นกน้ำ นกชายเลน ไม่ต่ำกว่า 400 ชนิด ที่สำคัญคือ “นกชนหิน” ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของนกเงือก โดยในพื้นที่ใช้เทคโนโลยี การเฝ้าติดตาม และกระบวนการศึกษาวิจัยที่ก้าวหน้าขึ้น ปี 2562 พบนกชนหิน 5 คู่ และยังไม่จับคู่ 13 ตัว แต่ปัจจัยที่นกชนหินไม่เพิ่มประชากร หรือสถานภาพยังน่าเป็นห่วง เพราะการเลือกโพรงรัง ไม่ใช่ว่าแบบใดก็ทำได้ ซึ่งนกมีลักษณะหัวหนัก โหนกหัวตัน โพรงรังต้องมีโหนกมีปุ่มมีปมเพื่อใช้เกาะ
โพรงรังแบบนี้ค่อนข้างหายาก นกใช้ต้นกระบากทำรัง ที่นี่มีนกเงือก 8 ชนิด ไม่สามารถสร้างรังเองได้ ต้องใช้โพรงรังตามธรรมชาติ ซึ่งมีนี้ห่วงเรื่องอากาศแล้ง แต่พบว่าไทรยังพอออกอยู่
ภารกิจเฝ้า “นกชนหิน”
นกชนหินเป็นนกหายากและต้องเลือกโพรงรังที่เหมาะสมเท่านั้น คือ กว้างไม่ต่ำกว่า 80 เซนติเมตร ทำให้ทีมนักวิจัยต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อเก็บข้อมูลของนกโดยละเอียดทั้งลักษณะโพรงรัง การหากิน และดูแลลูกน้อย รวมทั้งป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์
ขอปกปิดที่อยู่นก เพราะที่ จ.นราธิวาสพบการล่า แต่ที่นี่มั่นใจยังอยู่ดี ไม่มีการล่า หากมีนักดูนกเข้ามา เราจะต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปด้วย
ทีมนักวิจัยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ชุดละ 3 คน สับเปลี่ยนกันเก็บข้อมูลตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เพราะปีนี้นกเข้ารังเร็ว ขณะที่ปีที่แล้วพบรายงานใหม่ ว่า นกชนหินตัวเมียออกจากโพรงรังก่อนลูกถึง 2 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าบูโด หรือป่าฮาลาบาลา ที่ตัวเมียออกก่อนลูก 1 วัน เนื่องจากปัจจัยต้นสยาใหญ่กว่าต้นกระบาก ที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.78 เซนติเมตร แต่ไม่พอสำหรับนก 2 ตัว
ภาพ : สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง
สำรวจก่อนเข้ารังนาน 6 เดือน
พฤติกรรมของนกชนหินในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ตัวผู้จะเข้ามาสำรวจหาที่ทำรังก่อนและแหล่งอาหาร จากนั้นตัวเมียจะตามมาดู เพราะเข้าไปอยู่ในรังนาน 6 เดือน ลักษณะพื้นต้องอยู่ต่ำกว่าปากโพรงไม่เกิน 25 เซนติเมตร เพราะนกตัวเมียต้องขับถ่ายหันทางปากโพรง
เมื่อปิดปากโพรงหากเกิดอะไรขึ้นกับนกตัวผู้ ตัวเมียก็จะต้องตายด้วย เพราะไม่สามารถพังรังและบินออกมาได้ โดยใช้เวลากกไข่นาน 5-7 สัปดาห์ และเลี้ยงลูกอีก 5 เดือนจึงจะออกจากรังได้ ซึ่งนกตัวผู้มีหน้าที่ป้อนอาหาร โดยสังเกตพฤติกรรมของพ่อนกที่บินมาป้อนอาหาร หากป้อนถี่ขึ้นสะท้อนว่าขนาดของลูกใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะกินลูกของต้นไทร หรือสัตว์เล็ก เข่น กิ่งก่า งู ด้วง
เมื่อลูกนกตัวโตขึ้น พ่อต้องป้อนอาหารมากขึ้นมาถี่ขึ้น ตัวผู้จะโทรมมาก ขนหางหลุด หน้าเริ่มซีด เพราะกลางวันเป็นช่วงที่ร้อนที่สุด
ดึงชาวบ้านร่วมอนุรักษ์
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช นำระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL SYSTEM) มาใช้ร่วมกับการทำงานในเชิงรุก ทำให้ปัจจุบันไม่พบการลักลอบล่าสัตว์ป่าในผืนป่าแห่งนี้
วิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก เล่าว่า อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม เป็นตัวแทนป่าดิบชื้นทางภาคใต้ มีสัตว์ป่าที่สำคัญ เช่น สัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด คือ แมวลายหินอ่อน เก้งหม้อ เลียงผา และสมเสร็จ และพืชหายาก เช่น กกเขาสก เทียนสิรินธร ดอกบัวผุด โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายของกรมอุทยานฯ ตั้งแต่เยาวชนในโรงเรียน เครือข่ายด้านการอนุรักษ์ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เดินลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ ส่วนกลุ่มมัคคุเทศก์ ชมรมเรือ จะดูแลเก็บขยะและรักษาความสะอาดในจุดท่องเที่ยว
ภาพ : สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง
"ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ" สำรวจพบพืชพันธุ์ใหม่
การลาดตระเวนเชิงคุณภาพตลอดทั้งปี ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 90 ของป่าเขาสก 460,000 ไร่ เหลือเพียงพื้นที่เขาหินปูนสูงชัน ซึ่งยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ จากนั้นจะนำผลมาวิเคราะห์วางแผนลาดตระเวน ทำให้รักษาความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าได้ อีกทั้งไม่พบการบุกรุกเพิ่มเติม เนื่องจากวิเคราะห์วางแผนว่าพบปัจจัยคุกคามในจุดใดบ้าง เช่น ร่องรอยมนุษย์ แร้วดักสัตว์ ปลอกกระสุนปืน แต่ส่วนใหญ่เป็นร่องรอยเก่าบริเวณรอยต่อเขตอุทยานฯ กับหมู่บ้าน เพราะขณะนี้ชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและอาชีพเป็นไกด์ท้องถิ่น สร้างรายได้มั่นคงกว่าการลักลอบล่าสัตว์ป่า
เส้นทางที่ยังมีปัจจัยคุกคามต้องลาดตระเวนถี่ขึ้น เมื่อปัจจัยคุกคามลดลงจึงเปลี่ยนเส้นทาง รวมทั้งนำข้อมูลมาวิเคราะห์พันธุ์ไม้ที่เพิ่งได้รับการสำรวจ เช่น ดอกบัวผุด ตามข้อมูลเคยคิดว่าออกดอกในช่วง พ.ย. – ม.ค. แต่เมื่อเดินสำรวจพบว่าดอกบัวผุดออกดอกทั้งปีในป่าลึกที่มีความอุดมสมบูรณ์
คลองแสง-เขาสก มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 2,000,000 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งภูเขาสูงวางสลับซับซ้อน เขาหินปูนวางทอดยาวจาก จ.ชุมพร ต่อเนื่องถึง จ.กระบี่ มีป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง คือ เขื่อนรัชชประภา จึงถือได้ว่าป่าคลองแสง-เขาสก เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ปรีดา” ทุ่มเททั้งชีวิตพิทักษ์นกเงือกเขาบูโด
"นกชนหิน" ถูกล่าตัดหัว สังเวยค่านิยมเครื่องประดับ
กรมอุทยานฯ ดัน "นกชนหิน" เป็นสัตว์ป่าสงวน