ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เคาะราคาประมูล 5G จับตา "ทีโอที-กสท" ลงชิงคลื่นกับเอกชน

เศรษฐกิจ
16 ก.พ. 63
07:30
2,654
Logo Thai PBS
เคาะราคาประมูล 5G จับตา "ทีโอที-กสท" ลงชิงคลื่นกับเอกชน
วันนี้ (16 ก.พ.) เคาะราคาวันแรกประมูล 5G จับตา "AIS- TRUE " ร่วมแข่งประมูลคลื่นมากสุด 3 คลื่น รัฐบาลส่ง 2 รัฐวิสาหกิจ "CAT - TOT" ชิงธงสู้ 3 ค่ายมือถือ DTAC สู้คลื่นเดียว กสทช.ชูธงประกาศเร่ง 5G หวังดันไทยนำกลุ่มอาเซียน

วันนี้ (16 ก.พ.2563) เป็นอีกครั้งที่ สำนักงาน กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมด 3 คลื่น จากที่กำหนดไว้ 4 คลื่น เนื่องจาก 1 ใน 4 คลื่นที่ กสทช.กำหนดไว้ ไม่มีค่ายมือถือ สนใจเข้าร่วมประมูล 1800 MHz นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า มีคลื่นที่ กสทช.เอามาประมูล แล้วค่ายมือถือไม่สนใจไม่อยากได้

การประมูล 5G ครั้งนี้ มีเป้าหมาย 2 ปีแรก เน้นการลงทุนไปที่โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในภาคอุตสาหกรรม สาธารณสุขการเกษตร เทคโนโลยี มากกว่าเน้นให้บริการเพื่อใช้ในชีวิตของประชาชน (วางระบบก่อนประชาชนจึงจะใช้งานได้) กสทช.คาดว่าจะสร้างมูลค่าให้ทั้งระบบได้กว่า 2 ล้านล้านบาท

 

เมื่อการลงทุน 5G ครั้งนี้ เน้นด้านโครงสร้างพื้นฐาน การประมูลครั้งนี้ จึงได้เห็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมของไทยทั้ง 2 ราย CAT และ TOT กระโดดเข้ามาร่วมประมูลตามนโยบายรัฐบาลด้วย จากปกติจะเห็นแค่ 3 ค่ายมือถือรายใหญ่ในไทย

การประมูล 5G ครั้งนี้ มองเห็นการแข่งขันของเอกชน 2 ราย คือ AIS - TRUE ชัดเจนที่ต้องการชิงธงเป็นผู้นำให้การเปิดให้บริการ 5G ส่วน DTAC สนใจเพียงคลื่นเดียว คือ 26 GHz แม้เป็นคลื่นที่มีศักยภาพ แต่ก็เป็นคลื่นซึ่งยังไม่ยังพร้อมให้บริการในช่วง 2 ปีนี้

การประมูล 5G ครั้งนี้ มีเพียง 3 คลื่นความถี่เท่านั้น 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ที่จะใช้ประมูล ส่วนคลื่น 1800 MHz นั้น กสทช.เอามาประมูลด้วยแต่ไม่มีบริษัทใดสนใจประมูลเลย

 

ขณะที่คลื่น 3500 MHz ที่เอกชนต้องการและเคยเสนอเมื่อครั้งประชาพิจารณ์ปลายปีที่แล้วว่า ให้เอามาประมูลด้วย สุดท้าย กสทช. ก็ยังไม่ได้เอามาบรรจุในการประมูลรอบนี้

โดย 3 คลื่น ที่จะใช้ประมูลนั้น คลื่น 700 MHz แต่เดิมเป็นคลื่นที่ใช้ในกลุ่มโทรทัศน์ดิจิทัล ส่วนคลื่น 2600 MHz เป็นคลื่นว่างของ อสมท.เดิม และ คลื่น 26 GHz เป็นคลื่นว่าง ไม่มีการใช้งาน แต่ทั้งหมดเป็นคลื่นที่มีศักยภาพพอที่จะให้บริการ 5G

แต่หากวิเคราะห์ตามที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ประเมินไว้คลื่น 700 MHz น่าจะแข่งขันกันจริงจัง เพราะแม้กำหนดให้มี 3 ใบอนุญาต และมี 3 บริษัทแข่งขัน แต่ละบริษัทน่าจะต้องการมากกว่า 1 ใบอนุญาตเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ และจะเริ่มต้นประมูลคลื่นนี้ เป็นคลื่นแรกในวันนี้ และน่าสนใจว่า คลื่นนี้ มีรัฐวิสาหกิจ อย่าง CAT หรือ บ.กสท โทรคมนาคม ลงแข่งประมูลด้วย

 

ส่วนคลื่น 2600 MHz เป็นคลื่นที่ตอบโจทย์และมีศักยภาพในการทำ 5G มากที่สุด มี 3 บริษัทแข่งเสนอราคาจะมีทั้งหมด 19 ใบอนุญาต แม้เป็นคลื่นที่พร้อมทำ 5G ได้มากที่สุดเพราะผู้ชนะสามารถนำเข้าอุปกรณ์โครงข่าย 5G ได้หลังจากเสร็จสิ้นการประมูล แต่ก็มีเงื่อนไขว่าผู้ชนะต้องทำโครงข่าย 5G ในพื้นที่เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้เสร็จ 50% ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นอีกคลื่นที่เห็นรัฐวิสาหกิจ อย่าง "CAT" ลงชิงแข่งคลื่นนี้ด้วย

ขณะที่คลื่นความถี่ 26 GHz ดูจะเนื้อหอมมากที่สุด เพราะมีผู้สนใจมากที่สุดถึง 4 ราย ซึ่งนอกจากเอกชนทั้ง 3 รายแล้ว ยังมีรัฐวิสาหกิจอย่าง "TOT" เข้ามาร่วมแข่งด้วยในคลื่นนี้ กสทช.กำหนดมีใบอนุญาตมากถึง 27 ใบ และแม้มีศักยภาพทำ 5G เต็มที่ แต่การลงทุนด้านโครงข่าย สถานีฐาน และการนำเข้าอุปกรณ์ก็ยังไม่พร้อมมากนัก อาจต้องรอไปถึง 2 ปี จึงจะเสร็จ

 

ถามว่า กสทช. พร้อมไหม ? ตอบเลยว่า พร้อมมาก โดยกระบวนการเตรียมประมูลที่ผ่านมา กสทช.ได้ให้บริษัท และ สื่อมวลชน ดูกระบวนการซักซัอมก่อนถึงวันประมูลจริงไป และพยายามปรับแก้หลักเกณฑ์ตามข้อเสนอเมื่อมีการทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ หรือในเวทีประชาพิจารณ์

เลขาธิการ กสทช. แนะนำผู้เข้าร่วมประมูลว่า วันนี้ อย่าเคาะราคาสูงเกินไปนักจนไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้หลังชนะประมูลไปแล้ว เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ( กรณี แจส โมบาย ชนะประมูล แล้วทิ้งใบอนุญาตหลังชนะ อ้าง ไม่มีเงินจ่าย)

การประมูลวันนี้ มี 5 บริษัทเข้าร่วม ได้แก่ AIS, DTAC, Truemove, TOT และ CAT เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่

 

หากการประมูลจบในวันนี้ ทางคณะกรรมการ กสทช.จะประชุมและรับรองมติกันเป็นทางการวันที่ 19 กุมภาพันธ์63 จากนั้นเดือนมีนาคม จะเข้าสู่ขั้นตอนการที่ผู้ชนะประมูลเริ่มลงทุนระบบโครงข่าย และคาดว่าจะเปิดให้บริการ 5G ได้ในเดือนกรกฎาคมปีนี้

การประมูล 4G ช่วงปี 2558 แบบข้ามวันข้ามคืน กสทช.แจ้งนำเงินส่งเข้ารัฐแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนการประมูล 5G ครั้งนี้ คาดว่าจะนำเงินส่งรัฐได้กว่า 54,000 ล้านบาท 

เรื่องเล่าย้อนหลัง 5G ประเทศไทย..

การประมูลคลื่น 5G ของไทยนั้น ไม่ได้ราบรื่นมาตั้งแต่แรก และมีประเด็นต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเท่าที่รวบรวมได้ ดังนี้

งานประมูล 5G ครั้งนี้ เป็นการนำคลื่นที่มีหลากหลายมาประมูลในวันเดียวกันถึง 4 คลื่น แต่ไม่ใช้คลื่นที่เอกชนสนใจที่สุด และมี 1 คลื่น 1800 MHz ที่เอกชนไม่สนใจเลย

 

จากเดิม กสทช. จะจัดสรรคลื่น 5G ให้เอกชนในเดือมิถุนายน 2562 โดยใช้วิธีจัดสรรแบบไม่ประมูล แต่ถูกทักท้วงจากนักวิชาการ โดยเฉพาะทีดีอาร์ไอ และ เครือข่ายผู้บริโภค และทำให้สุดท้ายจึงต้องนำมาประมูล

คลื่นที่นำมาประมูล ถ้าถามเอกชนอย่าง AIS , DTAC และ TrueMove ก่อนหน้านี้แล้ว พวกเขาต้องการให้นำคลื่น 3500 MHz มากจัดประมูลร่วมด้วยมากที่สุด และมีการเสนอข้อคิดเห็นนี้ เมื่อครั้งประชาพิจารณ์ปลายปีที่แล้ว แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้นำคลื่นที่เอกชนสนใจที่สุดมาประมูล

จากเดิม ที่ กสทช.คาดว่า 5G จะเริ่มให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2563 แต่จากที่นายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณให้ กสทช.เร่งดำเนินการให้ 5G เปิดบริการได้ในช่วงกลางปีนี้ จึงทำให้ กสทช. ต้องจัดการประมูลเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม และกำหนดเป็นปิดให้บริการได้ในเดือนกรกฏาคมนี้

การดึง 5G ไปผูกโยงกับ โครงการ EEC (โครงการเขตส่งเสริมระบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) เพราะหนึ่งในเงื่อนไขที่กำหนด คือ ผู้ชนะคลื่น 2600 MHz ( หนึ่งในสามคลื่นที่ประมูล) ต้องทำโครงข่ายโทรคมนาคมในพื้นที่ EEC ให้เสร็จ 50% ภายใน 1 ปี ซึ่ง 2600 MHz ที่เรียกว่าเป็นคลื่นที่มีความพร้อมมากที่สุดในการทำ 5G ซึ่งข้อผูกมัดนี้ เป็นความยากและหินสำหรับผู้ประกอบการมากและถูกนำเสนอความเห็นเมื่อครั้งมีประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายกันแบบถล่มทลายเมื่อปลายปีที่แล้ว

การนำคลื่น 700 MHz ของฝั่งทีวีดิจิทัล มาทำ 5G โดยคาดหวังว่าเอาเงินในอนาคต (เงินที่ได้จากการประมูล 5G) มาจ่ายชดเชยให้กลุ่มทีวีดิจิทัลที่ขอยุติประกอบกิจการ ไปก่อนหน้านี้

การประมูล 4G ช่วงปี 2558 แบบมาราธอนข้ามวันข้ามคืน กสทช.แจ้งนำเงินส่งเข้ารัฐแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนการประมูล 5G ครั้งนี้ คาดว่าจะนำเงินส่งรัฐได้กว่า 54,000 ล้านบาท

 

แม้การประมูล 5G ครั้งนี้จะเกิดขึ้นจากความไม่ค่อยเต็มใจนักของค่ายมือถือ เพราะคลื่นที่อยากได้มากที่สุด กสทช. ยังไม่ได้นำมาประมูล แต่การวางเป้าหมายของ กสทช. ก็ทำให้เอกชน ก็ไม่อยากพลาดโอกาสครอบครองคลื่นด้วยเช่นกัน เพราะนั่นหมายถึงโอกาสของผู้ชนะประมูล ที่จะมีคลื่นฯ อยู่ในมือถือมากกว่าใคร..

เป้าหมาย ของ กสทช. ข้อสำคัญ... ผ่านไปสู่การออกหลักเกณฑ์ที่สะท้อนว่า กสทช. ก็ต้องการผลักดันให้เกิด 5G ตามที่รัฐบาลเร่ง ... ทั้ง การให้ผู้ชนะ รับใบอนุญาตได้ในเดือนมีนาคม 63 นี้, การให้เปิดบริการได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 63 ก็เพื่อเร่งประกาศว่า ประเทศไทยพร้อมมี 5G ได้ก่อนประเทศญี่ปุ่นจะประกาศบริการ 5G ในงานโอลิมปิก เดือนมิถุนายน 63 ก็เพื่อไม่อยากให้ประเทศไทย "ตกขบวน 5G" เรียกว่า กสทช.ขอชิงธงไทยนำ 5G ก่อนใครในอาเซียน ตามที่เลขาฯ กสทช. เคยประกาศไว้

ในโลกความเป็นจริง ตัดกลับมาที่คนใช้บริการ ต้องถามกลับไปยังทุกคนว่า คาดหวังอะไร กับ "5G ประเทศไทย" ที่กำลังเกิดขึ้นบ้าง ?

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง