วันนี้ (20 ก.พ.2563) ไทยพีบีเอสตรวจสอบข้อมูลจาก Johns Hopkins CSSE ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จาก WHO, ECDC, NHC และ DXY พบสถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยล่าสุด วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อแล้ว 75,725 คน อาการดีขึ้นสะสม 16,355 คน และเสียชีวิตสะสม 2,128 คน โดยตัวเลขผู้มีอาการดีขึ้นมากกว่าผู้เสียชีวิตกว่า 7 เท่า
ส่วนอัตราผู้ติดเชื้อแม้ในช่วงแรกจะมีอัตราผันผวนไม่แน่นอน แต่ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา กลับพบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 13 ก.พ. มีอัตราติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 33.61 ขณะที่ในวันนี้ 20 ก.พ. พบอัตราติดเชื้อเหลือเพียงร้อยละ 0.69 เท่านั้น เนื่องจากวันนี้มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 526 คน
สำหรับอัตราผู้มีอาการดีขึ้นต่อผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.เช่นเดียวกัน ในช่วง 7 วัน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.94 เป็นร้อยละ 21.59 โดยตัวเลขผู้มีอาการดีขึ้น เพิ่มจากเมื่อวาน 1,823 คน ขณะที่อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในวันที่ 13 ก.พ. อยู่ที่ร้อยละ 2.27 ส่วนในวันนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.81
เมื่อตรวจสอบตัวเลขแล้ว พบว่าในวันที่ 13 ก.พ. เป็นวันเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มตัวเลขอัตราต่างๆ เนื่องจากในวันนั้น คณะกรรมการสุขภาพมณฑลหูเป่ย ระบุว่า ตัวเลขผู้ติด COVID-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีอัตราปรับเพิ่มรายวันสูงสุด พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 14,840 คน และมีผู้เสียชีวิตใหม่ในหูเป่ยเพียงวันเดียวถึง 242 คน
แผนการวินิจฉัยและรักษาโรคระบาดฉบับล่าสุดของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) กำหนดว่าผู้ป่วยต้องสงสัยที่มีผลซีทีสแกน ซึ่งบ่งชี้ความเกี่ยวพันกับโรคปอดอักเสบ จะถูกนับเป็นผู้ติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกด้วย โดยคณะกรรมการสุขภาพมณฑลหูเป่ย เปิดเผยว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การวินิจฉัย มีเป้าหมายช่วยให้บุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกได้รับการรักษาตามมาตรฐานผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันผลอย่างทันท่วงที เพื่อยกระดับอัตราการรักษาสำเร็จยิ่งขึ้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม : ในหูเป่ยวันเดียวพบป่วยเพิ่ม 1.4 หมื่นคน จีนใช้เกณฑ์ตรวจใหม่
ทั่วโลกยังนิยามผู้ป่วย COVID-19 ไม่ตรงกัน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถาม นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 จากตัวเลขผู้ติดเชื้อ โดย นพ.ธนรักษ์ ระบุว่า สำหรับยอดรวมผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกนั้น อาจจะไม่สามารถบ่งบอกสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากแต่ละประเทศมี "นิยามผู้ป่วย" แตกต่างกัน
กรณีในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ศูนย์กลางการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มีวิธีการวินิจฉัยโรคที่แตกต่างจากที่อื่น โดยไม่มีการรอผลจากห้องปฏิบัติการ จึงทำให้อาจมีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งต้องรอผลทดสอบเชื้อ COVID-19 กรณีประเทศไทย ต้องรอผลทดสอบที่เป็นบวกถึง 2 ครั้ง จึงจะยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19
พูดง่ายๆ คือ ผู้ติดเชื้อ COVID-19 เกือบทั้งหมดของทั่วโลกมาจากประเทศจีน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ แม้ว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในหลักสิบ หากจะถามสถานการณ์จึงต้องมองแยกรายประเทศ
ส่วนตัวเลขผู้มีอาการดีขึ้นที่เพิ่มขึ้น และผู้ติดเชื้อที่ลดลง หากจะมองว่าสถานการณ์ดีขึ้น อาจจะเร็วเกินไป เพราะนักวิชาการส่วนใหญ่มองว่าเชื้อไวรัส COVID-19 นี้ควบคุมยาก เมื่อเริ่มระบาดแล้ว จะทำให้กลับไปเป็นศูนย์นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะมีความสามารถในการแพร่โรคมาก
สำหรับวิธีที่ดีที่สุด ในการหยุดการแพร่ระบาดของโรค คือ "ทำให้แต่ละคนไม่เจอกัน" อาจต้องปิดเมืองให้สนิท อย่างกรณีของอู่ฮั่น ที่มีนโยบายให้ประชาชนกักกันโรคด้วยตัวเอง 14 วัน เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่วนผู้ป่วยหนักก็ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หากทำได้จริง คนที่สบายดีก็จะไม่ป่วย และหยุดการแพร่ระบาดได้
แต่มองในความเป็นจริง ไม่มีใครอยู่ในห้องอย่างเดียวได้ 14 วัน อย่างน้อยต้องไปจ่ายตลาดบ้าง แต่หากทุกคนพยายามดูแลตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการระบาดได้ แต่ทำให้การระบาดเป็นศูนย์ไม่ได้
ปัจจุบันอู่ฮั่น ก็สามารถชะลอการแพร่เชื้อได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีการยกระดับมาตรการอย่างเข้มข้น ทั้งการประกาศหยุดให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ รวมถึงนโยบายให้ประชาชนกักกันโรคอยู่ที่บ้าน แต่สุดท้ายประชาชนก็ยังคงต้องใช้ชีวิต ต้องไปทำงาน ไปซื้ออาหารหรือสิ่งของ ทำให้เชื้อยังคงแพร่อยู่
สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ไม่ควรลดการ์ดป้องกัน COVID-19
สำหรับในประเทศไทย แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะคงที่แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ประเทศต้นทาง และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ เช่น ประเทศจีน สามารถชะลอการระบาดได้ โดยทำให้มีผู้ติดเชื้อลดน้อยลง โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาแพร่เชื้อในไทยก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้นักท่องเที่ยวจีนก็เข้ามาในไทยน้อยลงมากแล้ว
ทั้งนี้ ประเทศไทย ยังคงเฝ้าระวังนักเดินทางจาก 4 พื้นที่ ทั้งฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และสิงคโปร์ แม้จะมีผู้ป่วยน้อยมาก แต่ก็ยังต้องคัดกรองอย่างเข้มข้นต่อไป อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับมาตรการในการคัดกรองผู้ป่วยเป็นเชิงรุก โดยตรวจสอบทุกคนที่มีอาการโรคปอดบวมแม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ก็ตาม
อาจมีคนติดเชื้อเดินอยู่ทั่วไป หรืออาจไม่มีก็ได้ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็ถือว่าโชคดี แต่คาดว่าผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะขยายวงออกไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญที่ สธ.ดำเนินการในขณะนี้ คือการหาผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด เพื่อรักษาให้ได้เร็วที่สุด
ส่วนกรณีการเตรียมเสนอให้ประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายนั้น เป็นอีกมาตรการหนึ่งในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อมากจนนับไม่ถ้วนในทั่วโลก และอาจค่อยๆ แพร่ไปแต่ละประเทศ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ยังต้องติดตามต่อไปอีกหลายเดือน อย่างกรณีไข้หวัดใหญ่ 2019 ใช้เวลา 6 เดือนจึงจะถึงจุดสูงสุด แล้วมีระยะการระบาดกว่า 1 ปี สำหรับ COVID-19 ก็คงไม่ต่างจากเดิมนัก
แต่ละประเทศที่เริ่มมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่ละวัน ต้องบอกว่ายังไม่ถึงครึ่งแรกของยกที่ 1 เลย แต่ในไทยยังถือว่ายังไม่เริ่มแพร่ในประเทศ เหมือนญี่ปุ่นหรือเกาหลี แต่ต้องเตือนประชาชนว่ายังลดการ์ดลงไม่ได้ และต้องร่วมกันสู้ศึกนี้ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
24 ก.พ.นี้ ไทยเตรียมยกระดับ COVID-19 โรคติดต่ออันตราย
"อนุทิน" ยืนยันไทยไม่ปิดข่าวตัวเลขคนป่วย-เสียชีวิต COVID-19
สธ. ยืนยัน ไวรัส COVID-19 ติดต่อระยะใกล้