วันนี้ (22 ก.พ.2563) เวลา 09.30 น. คณะสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 สัตวบาล และสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ร่วมกันผ่าตัดละองที่ได้รับบาดเจ็บ โดยตัดขาหน้าขวาบริเวณข้อเท้า หลังจากตัดขาหน้าเสร็จ ความดันของสัตว์ลดต่ำลง เสี่ยงต่อภาวะช็อก
คณะสัตวแพทย์ ประเมินสภาพแล้วจึงยังไม่ตัดขาหลัง และได้ทำแผล ให้ยา และให้ยาฟื้นสลบ ขณะนี้เฝ้าดูการฟื้นสลบ หากสภาพร่างกายสัตว์พร้อม แผลไม่ติดเชื้อลุกลาม และประเมินการใช้ขาของละอง จะวางแผนตัดขาหลังที่ตำแหน่งข้อเท้าหลัง (tarsal joint) อีกครั้งต่อไป
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
สำหรับละอองตัวดังกล่าว ถูกพบเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 18.00 น. โดยนายกิติพัฒน์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ รายงานนายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา พบละองซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน ใกล้สูญพันธุ์ อยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงได้ล้อมจับและนำมาปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่หน่วยพิทักษ์ฯ ม.ว 4 (แม่เรวา) พบบาดเจ็บที่ขาหน้าขวา และขาหลังขวาขาด จึงประสานเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนด้านสัตว์ป่ามารับและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
คาด "ละอง" ถูกยิง ต้องอยู่กรงเลี้ยงตลอดชีวิต
ทางศูนย์ฯ โดย น.ส.พิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการ และ น.ส.ลลิตา อำนวยผล นักวิชาการสัตวบาล จึงได้ออกไปตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้ง และประสานเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เข้าร่วมรับและตรวจสอบละอง จากการตรวจสอบพบว่า เป็นละองตัวผู้ อายุประมาณ 4-5 ปี มีแท็กติดมี่หู รหัส tt15 ได้รับบาดเจ็บบริเวณขาหน้าขวา และขาหลังขวาขาดในลักษณะที่มีบางส่วนของขาห้อยติดอยู่ สูงจากข้อขาประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษณะบาดแผลพบขาหน้าและขาหลังขวาขาด กระดูกฝ่าเท้าและกระดูกนิ้วเท้าแตกเป็นหลายชิ้น จึงคาดถูกยิง คณะสัตวแพทย์ได้ให้ยาลดอักเสบ แก้ปวด และยาปฏิชีวนะ จากนั้นคลื่อนย้ายไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ด้าน น.ส.วีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ปล่อยละองตัวดังกล่าวคืนสู่ธรรมชาติ ตามแผนปฏิบิบัติงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อปี 2560 เป็น 1 ใน จำนวน 30 ตัว ส่วนการดำรงชีวิตหลังการผ่าตัดอาจจะต้องอยู่ในกรงเลี้ยงตลอดไป