ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ศศิน" ขอผู้ว่าฯภูเก็ตทบทวนเขื่อนแก้กัดเซาะหาดสุรินทร์

สิ่งแวดล้อม
23 ก.พ. 63
13:46
856
Logo Thai PBS
"ศศิน" ขอผู้ว่าฯภูเก็ตทบทวนเขื่อนแก้กัดเซาะหาดสุรินทร์
ศศิน เฉลิมลาภ และกลุ่มนักวิชาการ กังวลโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บนชายหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล จ.ภูเก็ต วงเงิน 19.1 ล้านบาท อาจจะกระทบต่อสูญเสียของชายหาดถาวร ขอผู้ว่าฯภูเก็ตทบทวนรูปแบบและพัฒนาตามความเหมาะสม

จากกรณีนายมาแอ่น สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล จ.ภูเก็ต ทำหนังสือเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาคมหมู่บ้าน และผู้ประกอบการเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์หาดสุรินทร์ (ระยะที่ 1) ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ ทำให้กลุ่มนักอนุนักษ์ และนักวิชาการด้านทะเล ออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อชายหาดสุรินทร์

วันนี้ (23 ก.พ.2563) นายศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการอิสระด้านธรณีสัณฐานชายฝั่ง ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และประชาชนชาวภูเก็ต โดยระบุถึงข้อกังวล 5 ด้านดังนี้ หาดสุรินทร์เป็นหาดกะเปาะ (pocket beach) มีหัวเขาสองลูกกักทรายไว้ตลอดปี ช่วงมรสุม พ.ค-ต.ค.จะเป็นช่วงที่หาดแคบ เพราะคลื่นลมแรง แต่ช่วงท่องเที่ยว ต.ค.- เม.ย. จะมีหาดกว้าง มีคลื่นเดิ่งพาทรายกลับมา ดังนั้นการพิจารณาการกัดเซาะต้องมองทั้งฤดูกาล อย่าเอาเหตุผลว่าช่วงมรสุมหาดแคบคลื่นแรงมาอ้าง

ภาพ:เฟชบุ๊ก Jumplong Sittichok

ภาพ:เฟชบุ๊ก Jumplong Sittichok

ภาพ:เฟชบุ๊ก Jumplong Sittichok

 

 ส่วนประเด็นที่ 2 หาดนี้มีการเทปูนทำลานกิจกรรมบนส่วนหนึ่งของหาดทรายไว้เดิม ส่งผลให้หน้ามรสุมคลื่นกระแทกปูนบางส่วนและสะท้อนสูง และที่สิ้นสุดโครงสร้างปูนจะมีการกัดเซาะจากการเลี้ยวเบนของกระแสน้ำ หากรื้อลานปูนนี้ออก แล้วฟื้นฟูเป็นเนินทราย จะทำให้เพิ่มความเป็นธรรมชาติ และส่งผลดีต่อสมดุลทรายของหาด

นอกจากนี้ ประเด็นที่ 3 การพัฒนาหาดสุรินทร์ ควรเว้นระยะถอยร่น ให้เกิดแนวเนินทรายจากลม ที่ปัจจุบันมีลานปูนทับประมาณ 1/3 ของหาดออก แล้วสามารถใช้ประโยชน์เป็นที่เดินเล่น หรือวางเก้าอี้ ทำอะไรในช่วงการท่องเที่ยวได้ เพราะคลื่นจะซัดไม่ถึงส่วนหน้ามรสุม เนินทรายที่สะสมตัวจากลมพัดขึ้นมาส่วนนี้จะถูกคลื่นซัดไปสะสมตัวอยู่ที่สันดอนทรายในแนวคลื่นหัวแตก พอหมดมรสุมคลื่นเดิ่งจะพากลับมา และเมื่อทรายแห้งลมจะหอบขึ้นไปเป็นเนินทรายอีกครั้ง เป็นวัฎจักรสมดุลอยู่แบบนี้ หากไม่รบกวนเนินทรายและหาดทราย

ชี้ไม่ต้องทำเขื่อนแก้กัดเซาะ-ค้านเทบันไดปูน

สำหรับประเด็นที่ 4 การสร้างลานปูนและบันไดปูนจะไม่เกิดสภาพสวยงามเหมือนในภาพโมเดล เพราะคลื่นซัดบันไดจะยกตัวสูง เล่นน้ำไม่ได้ มีสาหร่ายและเพรียงอันตรายต่อการเดิน ไม่นานหาดจะถูกคลื่นสะท้อนเอาทรายออกจากหาดให้ต่ำลงเรื่อยๆ จนในที่สุดบันไดจะหักพังเกิดเศษหินกระจายทั่วหาด และสุดท้ายประเด็นที่ 5 การพัฒนาหาดสุรินทร์ หากดำเนินการพัฒนาหลังแนวถอยร่น ประมาณ 30-40 เมตร จากระดับน้ำขึ้นสูงสุด สามารถดำเนินการได้สบาย ทั้งห้องน้ำ ลานกิจกรรม เพิงขายอาหาร เพียงแค่ไม่ต้องทำโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะตามแบบนี้

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Jumplong Sittichok โพสต์ข้อความว่า หลังจากไม่เข้าใจว่าหน่วยงานของรัฐ คิดยอย่างไร ? รับปากกับชาวบ้านว่าจะหยุด แต่ทำไมเขามีความต้องการสร้างเขื่อนบนชายหาดอย่างรุนแรง ขอเชิญชวนเข้าร่วมรับฟังการชี้แจง และแสดงความคิดเห็น ในวันจันทร์ ที่ 24 ก.พ.นี้ เวลา 14:30น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ชั้น 3 โดยพร้อมเพรียงกัน

สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นครั้งนี้ อบต.เชิงทะเลระบุว่าเพื่อชี้แจงรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการดังกล่าว ซึ่งโครงการดังกล่าวทางจังหวัดภูเก็ตว่าจ้างบริษัทเอ-อาเธอร์ แอดวานซ์ จำกัดเป็นผู้รับจ้างทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ วงเงินค่าก่อสร้าง 19.1 ล้านบาทเศษ โดยมีสัญญาตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.2560 ถึง 22 ธ.ค.2561 แต่อยู่ระหว่างสั่งระงับก่อสร้างจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่ร้องเรียนจากกลุ่มอนุรักษ์ ทช.จึงมีหนังสือแนะนำให้จังหวัดภูเก็ตกำหนดแนวถอยร่น และสามารถพัฒนาสิ่งก่อสร้างได้หลังแนวถอยร่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง