“คณะอนาคตใหม่” ประเดิมเวทีแรก วันอาทิตย์ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา หลังคดียุบพรรคอนาคตใหม่ 2 วัน เว้นคืนหายใจหายคอ เข้าคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รมว. นอกสภาฯ
ล่าสุด (24 ก.พ.63) แกนนำประกาศเดินหน้า อภิปรายควบคู่การอภิปรายในสภาฯ 24-28 ก.พ. “ปากคำ” ของผู้อภิปรายที่ถูกจับตาคือแกนนำ “คณะอนาคตใหม่” ที่เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรค 15 คน ซึ่งมี 11 คน ที่สิ้นสภาพ ส.ส. เพราะคดียุบพรรคและหมดสิทธิอภิปรายในสภาฯ
อาทิ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรค ,ช่อ-พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรค ,พล.ท.พงศกร รอดชมภู ฯลฯ
ที่สำคัญคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ไม่มีสิทธิอภิปรายแต่แรกเพราะถูกศาลสั่งพ้นความเป็น ส.ส.
ประเดิมเวทีแรก ถือว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนการเมืองไทย เมื่อ ช่อ-พรรณิการ์ ใช้ประเด็นการทุจริตอื้อฉาวระดับโลก อย่างการทุจริตกองทุน 1MDB ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งพบว่ามีการยักยอกเงินเข้าสู่บัญชี นายนาจิบ ราซัก อดีตนายกฯ กว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่การทุจริตกองทุนนี้มีมูลค่ารวมนับ 1 แสนล้านบาท
กล่าวหา “ประยุทธ์” อุ้มเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ
ช่อ-พรรณิการ์ ย้อนถึงความสัมพันธ์ผู้นำของทั้ง 2 ประเด็น ตั้งแต่ช่วง ปี 2557-2558 เมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เข้ายึดอำนาจ และจัดตั้งรัฐบาล คสช. โดยกล่าวหาว่านายนาจิบใช้ช่วงเวลาดังกล่าว เลือกเข้าหาผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร โดยใช้ความสัมพันธ์นั้นว่า “พันธมิตรมืด”
นั่นอาจเป็นสาเหตุที่เขาตัดสินใจ เป็นผู้นำคนแรกที่ให้การรับรองรัฐบาลทหารของไทย
ทั้งนี้คดีทุจริตกองทุน 1MDB ถูกเปิดโปงตั้งแต่ ปี 2558 โดย “ชาเบียร์ ฆุสโต” อดีตผู้บริหารบริษัทปิโตรซาอุดี ซึ่งถูกเปิดโปงภายหลังว่าเป็นบริษัทที่ช่วยฟอกเงินจากกองทุน 1MDB
ซึ่งชาเบียร์ ได้ส่งข้อมูลเป็นอีเมล 230,000 ขนาด 90 กิกะไบต์ ให้กับ “แคล บราวน์” (น้องสะใภ้นายกฯอังกฤษ) และถูกตีพิมพ์ใน The Sarawak Report
ต่อมาชาเบียร์ เลือกลงหลักปักฐานในประเทศไทยพร้อมกับภรรยาและลูก ขณะที่แคลเลือกกลับประเทศอังกฤษเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย
1.เปิดหลักฐาน กล่าวหารัฐบาลไทยช่วยปิดปากพยาน
ระหว่างพักที่ไทย ชาเบียร์ ถูกตำรวจจับกุมข้อหาขู่กรรโชกทรัพย์ ซึ่ง ช่อ-พรรณิการ์ อ้างว่ามีกระบวนการที่พยายามปิดกั้นการเข้าถึงพยานปากสำคัญคนนี้ ทั้งความพยายามที่จะไม่ส่งตัวชาเบียร์ กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ชาเบียร์ ถือสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์) และไม่ให้ความร่วมมือกับ FBI ในการสอบสวน พร้อมกับกล่าวหาว่ามีบุคคลของบริษัทปิโตรซาอุดี ซึ่งเป็นบริษัทที่ช่วยฟอกเงินจากกองทุน 1MDB เข้ามาแทรกแซงคดีนี้
- มีหลักฐานเป็น “อีเมล” ของสำนักงานทนายความของ “แอตกินส์ ทอมป์สัน” ถูกตีพิมพ์ในสื่อ The Guardian อังกฤษ ว่าบริษัทปิโตรซาอุดีได้ว่าจ้างที่ปรึกษาชื่อ "พอล ฟินนิแกน" ซึ่งเป็นอดีตตำรวจสกอตแลนด์ เข้ามาร่วมกระบวนการดำเนินคดีกับชาเบียร์ในไทย โดยพยายามบีบบังคับให้ชาเบียร์รับสารภาพ ซึ่งไม่เคยพบบันทึกเข้าออกของพลที่เรือนจำคลองเปรม ขณะที่ตำรวจไทยอ้างว่ากระบวนการสอบสวนคดีชาเบียร์ มีตำรวจจากอังกฤษมาร่วมการสอบสวนด้วย
- มีหลักฐานเป็นบทสนทนาผ่าน WhatApp ระหว่างภรรยาของชาเบียร์ ชื่อ “ลอร่า” และตัวแทนของสำนักงานทนายความชื่อ “แพทริก มาฮานี” ที่อ้างว่าเขาสามารถควบคุมการเข้า-ออกเรือนจำครองเปรมในการพบกับชาเบียร์ ซึ่งภายหลังหลักฐานชิ้นนี้ได้รับการยืนยันจากศาลสวิตเซอร์แลนด์ว่าเป็นความจริง
- มีหลักฐานเป็น “บันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์” ระหว่างภรรยาของชาเบียร์ และ พ.ต.อ.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก เจ้าของสำนวนคดี ซึ่งยอมรับว่ารู้จักกับพอล (ที่ปรึกษาของบริษัทปีโตรซาอุดี) เป็นอย่างดี
เรือนจำไทยกลายเป็นที่คุมขังปิดปากพยานปากเอกของคดี 1MDB
นอกจากนี้ภรรยาของชาเบียร์ ยังอ้างว่าเจ้าหน้าที่ FBI เคยขอเข้าพบชาเบียร์ที่เรือนจำคลองเปรม 3 ครั้ง แต่ถูกปฏิเสธทั้งหมด จนต้องขอให้เธอใช้วิธีขอข้อมูลจากชาเบียร์ด้วยการเขียนจดหมาย ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 6 เดือน กว่าจะได้ข้อมูลทั้งหมด
อย่างไรก็ตามระหว่างการสอบสวน ชาเบียร์รับสารภาพในที่สุดเพื่อแลกกับการส่งตัวไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่กระบวนการต้องยุติลง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายนาจิบ มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ย.2561
2.”ช่อ” กล่าวหารัฐบบาลไทยให้ที่กบดาน “อาชญากรข้ามชาติ”
ช่อ-พรรณิการ์ ตั้งข้อสังเกตอีกประเด็น กรณีที่มีเครือข่ายบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตกองทุน 1MDB พักอยู่ในประเทศไทย
ระหว่างที่มีการออกหมายแดงประกาศจับโดยตำรวจสากล
รัฐบาลสิงคโปร์เคยประสานตำรวจสากลเพื่ออกหมายจับ “โจ โล” หรือ โลเตี๊ยกโจ เป็นคนสนิทกับนายนาจิบ และเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินจากกองทุนดังกล่าว ซึ่งนับแต่วันประกาศถึงวันที่ 13 พ.ค. ปี 2561 พบข้อมูลว่า โจ โล เข้าออกประเทศไทยรวม 5 ครั้ง
เลือกซื่อสัตย์ต่อพันธมิตรมืดมากกว่ารักษากฎกติกา เลือกรักษาความสัมพันธ์กับนาจิบ มากกว่าลีเซียนลุงของสิงคโปร์
ข้อสรุปจากการอภิปรายนอกสภาฯ ครั้งแรกของ ช่อ-พรรณิการณ์ คือการกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจสั่งการข้ามกระทรวงเพื่อบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม “นำผู้บริสิทธิ์เข้าคุกเพื่อปิดปาก แต่กลับปล่อยคนที่หมายแดงจากอินเตอร์โพลลอยนวล ใช้ไทยเป็นที่กบดาน”
“ประยุทธ์-ประวิตร” โต้ข้อมูลเอี่ยวอุ้มทุจริต 1MDB
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า กรณีกล่าวหาคดีทุจริต ความสัมพันธ์ต่างประเทศ เชื่อมโยงจับแพะชนแกะ หน่วยงานมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ยังไม่โต้ตอบ เก็บประเด็นไว้ดำเนินการทางกฎหมาย เพราะหลายเรื่องหลายคนถูกพาดพิง เรื่องนี้มีคำชี้แจงหมด และได้รับคำชี้แจงหมดแล้ว
ผมห่วงประชาชนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมถึงนิสิตนักศึกษา บางทีมันอันตรายต่ออนาคตตนเอง
ล่าสุด (24 ก.พ.2563) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โต้แย้งว่าข้อมูลที่ ช่อ-พรรณิการ์ นำเสนอไม่เป็นความจริง กรณีชาเบียร์ เป็นคดีเก่าตั้งแต่ ปี 2558 สมัย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น ผบ.ตร.
โดยมีผู้ร้องทุกข์ว่าชาเบียร์ ขู่กรรโชกทรัพย์บริษัทนำมันแห่งหนึ่ง เป็นบริษัที่ชาเบียร์เคยทำงาน และขู่ว่าจะเปิดเผยข้อมูลลับหากไม่ยอมจ่ายเงิน
ซึ่งคดีนี้ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ผู้ต้องหารับสารภาพเหลือจำคุก 3 ปี และติดคุกจริงแค่ปีกว่าเท่านั้น โดยผู้ต้องหาไม่มีการขออุทธรณ์คดี
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะอดีตรองนายกฯ ด้านความมั่นคง สมัยรัฐบาล คสช. (ปี 2557-2562)
ยืนยันว่า กรณีที่ โจ โล เข้าออกประเทศไทย เป็นช่วงก่อนที่ตำรวจสากลจะประกาศหมายจับ โจ โล ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตกองทุน 1MDB
หยั่งทาง “ขุนพล” นอกสภา
ล่าสุดเพจอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความว่าจะมีการอภิปรายทั้งในและนอกสภาควบคู่กันตั้งแต่เวลา 13.00 น. วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และคาดว่าจะมีการลงมมิภายในวันนั้นด้วย
ทั้งนี้บุคคลที่น่าจับตาของ “คณะอนาคตใหม่” ที่จะอภิปรายนอกสภาฯ อาทิ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เพราะเดิมมีบทบาทนำในการคุม ส.ส.อภิปรายในสภาฯ ที่ผ่านมามีผลงานในการตรวจสอบรัฐบาล เช่นเปิดประเด็นอภิปรายนายกฯ (แบบทั่วไปไม่ลงมติ) กรณีกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน เป็นต้น
อีกบุคคลคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเคยเป็น กมธ. พิจารณางบประมาณ ปี 2563 ครั้งนั้นได้ตั้งข้อสังเกตงบฯ กองทัพที่มีพิรุธเป็นจำนวนมาก และได้อธิบายข้อพิรุธดังกล่าวผ่านกิจกรรม “จากโคราชสู่การปฏิรูปกองทัพ” ไปแล้ว
โดยเฉพาะการตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการงบฯ กองทัพ ที่ใช้ในโครงการต่างๆ ของกองทัพ ทั้งสนามม้า การจัดมวย การบริหารสนามกอร์ฟ-โรงแรม เป็นต้น
มีรายงานว่าข้อมูลของ “คณะอนาคตใหม่” จะทยอยนำเสนอต่อสาธารณชน ไม่เฉพาะกรณีที่ ช่อ-พรรณิการ์ ได้เผยแพร่ไปแล้ว และอาจมีข้อมูลชุดอื่นๆ ตามมาด้วย
นอกจากนี้ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลที่ถูกนำเสนอช่วงนี้ ล้วนเป็นข้อมูลลับที่ไม่เคยถูกเปิดเผยจากฝ่ายค้าน และถูกแกนนำที่ออกมาอภิปราย เพิ่งจะถูกศาลสั่งตัดสิทธิทางการเมืองก่อนการอภิปรายไม่กี่วัน อย่างไรก็ตามหากข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบผลประโยชน์สาธารณชน ย่อมเป็นประเด็นที่จะถูกตรวจสอบต่อยอดทั้งในและนอกสภาฯ