วันนี้ (25 ก.พ. 2563) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยหลังการประชุมหารือเรื่องผลกระทบจากแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่านความถี่ 2500 - 2690 เมกะเฮิรตซ์ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งลงพื้นที่ทดสอบคลื่นความถี่ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) ผู้ให้บริการคลื่นความถี่ 5G
หลังจากที่ผ่านมา กสทช. ได้มีการประมูลคลื่นวิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่านความถี่ 2500 - 2690 เมกะเฮิรตซ์ (5G) ซึ่งมีย่านความถี่ที่ใกล้เคียงที่ใช้ในระบบการเดินรถไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (สายสีเขียวและสายสีม่วง) (ย่านความถี่ 2405-2495 เมกะเฮิรตซ์) ที่มีการใช้งานมานานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน (เวลา 07.00 - 09.30 น.และ 16.30 - 20.00 น.) ซึ่งมีความถี่ในการเดินรถทุก 2.5 - 3 นาที คลื่นความถี่ 5G ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเดินรถไฟฟ้า
ในการทดสอบครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น พร้อมหาวิธีป้องกันการเกิดผลกระทบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเสถียรภาพของระบบการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งผลการทดสอบในเบื้องต้น ยังไม่พบผลกระทบแต่อย่างใด โดยกรมการขนส่งทางรางได้ขอให้ทั้ง เอไอเอสและบีทีเอสดำเนินการทดสอบผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยบีทีเอสดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์กรองคลื่นรบกวนตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครบภายใน 6 เดือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการระบบขนส่งทางรางจำนวน 1.05 ล้านคน/วัน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า บีทีเอสได้มีการศึกษาและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกัน ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในระบบโทรคมนาคมกับคลื่นที่ใช้ในการเดินรถไฟฟ้า โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อ กสทช.ประกาศแผนในการนำ คลื่นความถี่ 2500 - 2600 MHz มาประมูลเพื่อใช้ในกิจการ 5G บีทีเอสจึงได้เข้าหารือรายละเอียดกับทาง กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร และกรมการขนส่งทางราง เพื่อเตรียมการป้องกัน ไม่ให้เกิดผลกระทบกับการเดินรถ
รวมทั้งได้มีการประสานกับทางผู้ผลิตและติดตั้งระบบอาณัติสัญญานการเดินรถของบีทีเอส และทางเอไอเอส เพื่อทดสอบและป้องกันปัญหาเรื่องคลื่นรบกวน โดยได้มีมาตรการร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการเดินรถ แม้ว่าการทดสอบเบื้องต้นจะไม่พบปัญหาใด ๆ แต่จะยังคงร่วมมือกันเดินหน้าทดสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการ โดยบีทีเอสเองได้ลงทุนติดตั้งระบบป้องกันตัวกรองคลื่น ในกรณีที่พบการรบกวนแฝงจากคลื่นความถี่ต่างๆ เพื่อให้การเดินรถไม่เกิดปัญหาในระยะยาว