“เพราะถึงแม้คุณประยุทธ์ลาออก ประเทศก็ยังมีนายทหารอีกหลายคนที่พร้อมจะเสียบแทน เพราะถึงแม้จะประกาศให้เลือกตั้ง ประเทศก็ยังมีระบบและกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิม เพราะถึงแม้จะแพ้เลือกตั้ง ประเทศก็ยังมี ส.ว.250 คน ที่พร้อมจะเลือกกลับเข้ามาเป็นนายกฯ ข้อเสนอจึงมีหนึ่งเดียวคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
ด้วยหลักการแนวคิดนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า จึงเสนอข้อเรียกร้อง 5 ยกเลิก 5 ยกระดับ
ท่ามกลางการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาหลายสถาบันทั่วประเทศ ด้วยปรากฏการณ์แฮชแท็ก ส่งต่อการเคลื่อนไหวแฟลชม็อบ
ยุคสมัยใหม่ ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ แทนโทรทัศน์ดาวเทียม
ยุคสมัยใหม่ ที่รวมตัวในช่วงเวลาสั้น แทนการปักหลักพักค้าง
ยุคสมัยใหม่ ที่ใช้พื้นที่ปลอดภัยจาก พ.ร.บ.การชุมนุม แทนการปิดถนนและสถานที่ราชการ
แต่นั่นมิได้หมายความว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในวันหน้า โดยเฉพาะหากข้อเรียกร้องยังไม่ตอบสนอง
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่ม นปช. และสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ สะท้อนประสบการณ์จัดการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และมองปรากฏการณ์ล่าสุดนี้ ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน
ณัฐวุฒิ : “บรรดาเพื่อนมิตรนักการเมือง ขอให้สงวนท่าทีไม่ต้องเข้าไปแสดงบทบาทอะไรกับนักศึกษา ทำให้การเคลื่อนไหวถูกมองว่ามีฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลัง ส่วนน้องๆ นักศึกษาทุกก้าวย่างต้องสุขุมรอบคอบและระมัดระวัง ข้อเสนอก็คือทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะนั่นยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับน้องๆ เสมอ”
สนธิ : “การไลฟ์เฟซบุ๊กของเด็กตามที่ต่างๆ คุณคุมเขาได้มั้ย วันนี้เหมือนน้ำมันที่ราดลงไปแล้ว รอไม้ขีดไฟอันเดียว จริงอยู่ยังไม่มีใครลงถนน แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่าที่ปราศรัยกันจะไม่มีคนของทางการเข้าไปแอบฟังคุณ ที่สำคัญที่สุด หากเด็กคุมสติไม่ได้และก้าวข้ามในสิ่งที่ไม่ควรจะก้าวข้าม ต้องมีคนรับผิดชอบ”
พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 3 (4) ไม่ใช้บังคับการชุมนุมภายในสถานศึกษา ไม่ต้องขออนุญาตตำรวจท้องที่ เพื่อนัดรวมตัวหรือใช้เครื่องขยายเสียง แต่ใช่ว่าจะกระทำหรือพูดอะไรก็ได้
ไม่เฉพาะคนนอก แต่ฝ่ายการเมืองในสภาดูจะตอบรับกระแสนี้ และยื่นข้อเสนอให้พวกเขาและสังคมพิจารณา
ทั้งการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญโดยมีตัวแทนนักศึกษาเข้าไปสะท้อนปัญหาและความต้องการ
ทั้งการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการทางประชาธิปไตย
หลายข้อเสนอถูกส่งกลับมากลางวงของนักศึกษา ผู้ยังชุมนุมอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง และการหารือระหว่างสถาบันยังไม่มีมติเสียงส่วนใหญ่ ในการตกผลึกความคิดและข้อเรียกร้องออกมาสู่สาธารณะ
แล้วพวกเขาจะมีท่าทีอย่างไรต่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากนักการเมือง
แล้วนักการเมืองจะมีท่าทีอย่างไรต่อข้อเรียกร้องที่พวกเขาตกผลึกและตอบกลับมา
ไม่นับรวมผู้คนในสังคมกำลังจับจ้องหมากกระดานนี้ ทั้งที่หวังดีและแอบซ่อนวัตถุประสงค์ร้ายเอาไว้
เรื่อง : จตุรงค์ แสงโชติกุล