ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตรียมเสนอครม.เศรษฐกิจอุ้มสายการบิน

เศรษฐกิจ
4 มี.ค. 63
19:05
501
Logo Thai PBS
เตรียมเสนอครม.เศรษฐกิจอุ้มสายการบิน
“ศักดิ์สยาม” เตรียมเสนอ ครม.เศรษฐกิจ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้านผู้บริหารสายการบินเสนอให้ยกเว้นค่าขึ้นลงอากาศยาน--สะพานเทียบเครื่องบินปีแรก100%

วันนี้ (4 มี.ค.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือกับตัวแทนสายการบินเอกชน 17 สายการบินว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้ทางรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.) เข้ามาช่วยเหลือ ยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินการของสายการบิน เพื่อให้สายการบินสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจนกระทบต่อต้นทุนการบริหารงาน แม้ว่าผู้ประกอบการจะปรับลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรลงร้อยละ 30-50 และจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดประมาณ 2,000 ล้านบาท ในช่วงมี.ค.-ธ.ค.นี้ และจำหน่ายตั๋วโดยสารราคาพิเศษ แต่จำนวนผู้โดยสารยังปรับตัวลงต่อเนื่อง

 


ทั้งนี้เห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศลดลงร้อยละ 35.2 และในประเทศลดลงร้อยละ 18.4 โดยจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดลดลง 2.54 ล้านคน ขณะที่อัตราขนส่งผู้โดยสารต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 40-60 ในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 70-80 เครื่องบินที่จอดไม่ได้ใช้งานร้อยละ 10-15 ด้านจำนวนเครื่องบินที่ถูกยกเลิกในต่างประเทศมีจำนวน 6,960 เที่ยวบิน และในประเทศ 919 เที่ยวบิน นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่นั่งของเครื่องบินเพิ่มขึ้น 30-40% เกิดจากค่าการขึ้นลงของอากาศ ค่าทีเก็บอากาศยาน และการใช้สะพานเทียบ รวมถึงการอำนวยความสะดวการจราจรทางอากาศจึงได้ขอให้กระทรวงฯเข้ามาช่วยเหลือโดยด่วน

 

 

อย่างไรก็ตาม มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมรวบรวมรายละเอียด และหาข้อสรุปแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจในวันที่ 6 มี.ค.นี้

สำหรับข้อเสนอของสายการบินนั้นได้ขอให้บริษัทท่าอากาศยานไทย หรือทอท. ปรับลดการขึ้นลงอากาศยาน Landing fee จากที่จัดเก็บในอัตราต่างประเทศ 10,425 บาท และในประเทศ 5,213 บาท ต่อการลงจอด ที่เก็บอากาศยาน parking fee ต่างประเทศ 1,230 บาท ในประเทศ 615 บาท ต่อ 6 ชั่วโมง การใช้สะพานเทียบเครื่องบิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศจัดเก็บ 1,070 บาทต่อ 40 นาที โดยขอลดปีแรก 100% ในปีแรก และปีที่ 2 สัดส่วนร้อยละ 50 และค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 100-350 บาท ต่อตรม./เดือน ขอลดร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 2 ปี การใช้สนามบินต่างประเทศ 700 บาท ในประเทศ 100 บาทต่อผู้โดยสาร โดยขอลดร้อยละ 50 เป็นเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 หน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจทั้งทอท.และบวท. ต้องเสนอเรื่องให้บอร์ดพิจารณาเพื่อขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (พีเอสโอ)

 

 

ขณะที่ทย.ขอลดการขึ้นลงค่าอากาศยานต่างประเทศ และในประเทศ 6,625 บาทต่อการลงจอด ที่เก็บอากาศยานต่างประเทศ 900 บาท และในประเทศ 450 บาทต่อ 6 ชม. การใช้สะพานเทียบทั้งในประเทศและต่างประเทศ 1,070 ต่อ 40 นาที โดยขอลด 100% ในปีแรก และสัดส่วนร้อยละ 50 ซึ่งทย.จะต้องเสนอเรื่องให้ครม.พิจารณาอนุมัติเนื่องจากมีงบประมาณจำกัด ส่วนบวท. ขอยกเว้นการอำนวยความสะดวกการจราจรต่างประเทศและในประเทศอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 2 ปี

 

 

ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ประธานบริหารเจ้าหน้าที่สายการบินไทยแอร์เอเชียกล่าวว่า จากการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถือว่าวันนี้มีแนวโน้มที่ค่อนข้างดี ขณะที่สถานการณ์ของสายการบินในขณะนี้ สายการบินเอกชนรวมทั้งหมดมีเที่ยวบินลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ประมาณ 7,000 เที่ยวบิน โดยมีผู้โดยสารลดลงประมาณร้อยละ 60 และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก

พร้อมยืนยันว่าทางสายการบินไม่ได้มีนโยบาย ปรับลดพนักงานโดยขณะนี้พนักงานของสายการบินไทยแอร์เอเชียและสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีพนักงานรวมกันประมาณ 8,000 คน ส่วนของนักบินให้ทำการหยุดบินและมีการสลับบิลรวมถึงมีการลดค่าใช้จ่าย แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับลดพนักงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง