ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักไวรัสวิทยาไทยชี้แจง COVID-19 ไวรัสกลายพันธุ์รุนแรงอาจไม่จริง

สังคม
7 มี.ค. 63
14:19
8,220
Logo Thai PBS
นักไวรัสวิทยาไทยชี้แจง COVID-19 ไวรัสกลายพันธุ์รุนแรงอาจไม่จริง
นักไวรัสวิทยาไทย ชี้แจงกรณีนักวิทยาศาสตร์จีนตีพิมพ์งานวิจัยระบุว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV2 ซึ่งเป็นสาเหตุการก่อโรค COVID-19 กำลังกลายพันธุ์รุนแรงนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง โดยขอให้ประชาชนอ่านข่าวการแปลผลด้วยความระมัดระวัง และไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

วันนี้ (7 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่นักวิทยาศาสตร์จีนตีพิมพ์ผลงานวิจัยเผยแพร่ในวารสาร National Science Review ระบุว่า เชื้อไวรัส SARS-CoV2 ซึ่งเป็นสาเหตุการก่อโรค COVID-19 ที่มีอยู่ตอนนี้ได้มีการกลายพันธุ์ โดยมีสายพันธุ์รุนแรง เรียกว่า L type ส่วนสายพันธุ์รุนแรงน้อย เรียกว่า S type อีกทั้งมีการนำเสนอข่าวเชื่อว่าไวรัสชนิดรุนแรงกลายพันธุ์มาจากชนิดที่ไม่รุนแรง จนทำให้หลายคนเข้าใจว่านี่คือสัญญาณอันตรายที่ไวรัส SARS-CoV2 กำลังกลายพันธุ์เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรงแรงมากขึ้น ล่าสุด กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยไทยออกมาเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแปลผลงานวิจัยครั้งนี้ว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ไวรัสกลายพันธุ์คือเรื่องปกติ

อนันต์ จงแก้ววัฒนา

อนันต์ จงแก้ววัฒนา

อนันต์ จงแก้ววัฒนา

นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่นักไวรัสวิทยาต่างให้ความเห็นว่า ไวรัส SARS-CoV2 กำลังกลายพันธุ์เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรงแรงยังไม่ใช่ข้อสรุปที่เชื่อถือได้นั้น อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า "Mutation" หรือการกลายพันธุ์ถือเป็นเรื่องปกติของไวรัส ซึ่งรวมไปถึงไวรัส SARS-CoV2 ด้วย โดยทุกๆ ครั้งที่ไวรัสมีการเพิ่มจำนวนในร่างกายของเจ้าบ้าน หรือ Host เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มนุษย์ จะมีความผิดพลาดในการสร้างสารพันธุกรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรมไปจากเดิมตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้างเกิดขึ้นได้เสมอ

พูดง่ายๆ คือเราไม่เคยพบไวรัสที่แยกได้จาก 2 แหล่ง ที่มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกัน 100% ในธรรมชาติเลย

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ silent คือไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่ไวรัสสร้างขึ้นมา แต่บางครั้งอาจจะไปมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนบางตัวเช่น เปลี่ยนไปเป็น Leucine (L type) หรือ Serine (S type) ของไวรัส เหมือนที่ขณะนี้มีการสร้างประเด็นทำให้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ไวรัสรุนแรงมากขึ้น

จริงหรือ! ไวรัส L type รุนแรงกว่า S type

สำหรับสาเหตุที่ผลงานวิจัย ระบุว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV2 แบ่งออกเป็น L type และ S type และเชื่อว่า L type จะรุนแรงกว่า S type นั้น นายอนันต์ กล่าวว่า เกิดจากงานวิจัยนำตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วยอาการรุนแรงในอู่ฮั่น ในช่วงแรกๆ มาเปรียบเทียบกับตัวอย่างผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงในช่วงการระบาดระยะหลังๆ แล้ว และนำมาพยายามหาความสัมพันธ์ว่าไวรัสใน Wuhan มีอะไรที่แตกต่างจากตัวอื่น ทำไมถึงดูรุนแรง และได้ข้อสรุปว่า ไวรัส Wuhan จัดอยู่ในกลุ่ม L type ขณะที่กลุ่มอื่นเป็น S type จึงดูเหมือนว่า L type จะเกี่ยวข้องกับความรุนแรงมากกว่า ซึ่งการเก็บตัวอย่างและการแปลผลของงานวิจัยในลักษณะนี้ใช้ไม่ได้จริง

ส่วนประเด็นที่ต้องเน้นย้ำ คือในช่วงแรกของการระบาดที่ Wuhan การเก็บตัวอย่างจะเก็บเฉพาะผู้ป่วยหนัก แต่ความเป็นจริง คือตอนนั้นผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมีมากมาย แต่ไม่ได้เก็บตัวอย่างไว้ ซึ่งไวรัสตอนนั้นเป็นไปได้สูงว่าจะเป็น L type ทั้งหมด การเลือกเอาไวรัสของผู้ป่วยหนักมาวิเคราะห์และสรุป อย่างเดียวว่า L-type คือ ตัวรุนแรง จึงเป็นการสรุปที่ไม่สมเหตุสมผล และการสรุปว่าไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้จะรุนแรงขึ้นจึงเป็นเรื่องที่สรุปโดยไม่มีหลักฐานอย่างหนักแน่น

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ไวรัส SARS-CoV2 ตอนนี้กำลังเปลี่ยนแปลงจริงๆ เป็นเรื่องปกติ แต่การกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์รุนแรง หรือไม่รุนแรง ยังไม่เกิดขึ้นจริง ขอให้ประชาชนอ่านข่าวการแปลผลด้วยความระมัดระวัง และไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง