วันนี้ (10 มี.ค.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) ครั้งที่ 1/2563 ว่า ภาพรวมตั้งแต่ปี 2557–2562 สามารถยึดคืนพื้นที่ป่าจากกลุ่มนายทุน ที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าไม้ 853,603 ไร่ และดำเนินคดีบุกรุก 29,350 คดี
คดีการลักลอบตัดไม้อยากให้คนกระทำผิดต้องติดคุกเท่ากับอายุของต้นไม้ที่ตัดไปด้วยซ้ำ แต่ต้องอิงกับกฎหมายปัจจุบันพื้นที่ที่ยึดคืนมาได้จะเร่งฟื้นฟูสภาพให้กลับไปเป็นป่าสมบูรณ์
จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศของคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ พบพื้นที่ป่าไม้ของประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 300,000 ไร่ โดยเฉพาะช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2557-2561 ส่วนการจัดสรรที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้ประชาชนไร้ที่ดินทำกินใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำกินในรูปแบบแปลงรวมไปแล้ว 184 พื้นที่ รวม 58 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่กว่า 659,428 ไร่ และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 234 พื้นที่ รวม 61 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่กว่า 1,083,366 ไร่
หากเทียบปี 2562 กับปี 2557 คดีบุกรุกป่ามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากตัวเลขปีก่อนยึดคืนพื้นที่ป่า 108,385 ไร่ ดำเนินคดีบุกรุกป่าได้ 2,851 คดี จับผู้ต้องหาได้ 521 คน ขณะที่ปี 2557 ยึดพื้นที่ป่าได้ 109,303 ไร่ ดำเนินคดีบุกรุกป่า 6,003 คดี จับผู้ต้องหา 1,556 คน
ชี้ยังมีความขัดแย้งรัฐ-ชาวบ้าน ไม่ใช่แค่นายทุน
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากกลุ่มผู้กระทำความผิดไม่ได้มีแค่กลุ่มนายทุน หรือผู้มีอิทธิพลเท่านั้น แต่ยังมีชาวบ้านด้วย ทำให้การจับกุมส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านในพื้นที่
ดังนั้น เน้นให้ความสำคัญเรื่องของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าไม้ของกลุ่มประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าไม้ โดยต้องมีคุณสมบัติ ที่จะเข้าทำกินและอยู่อาศัยในเขตป่าไม้ได้ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภาพรวมกลุ่มประชาชนผู้เดือดร้อนค่อยข้างพอใจกับมาตรการที่รัฐทำ