อาหารไทยไม่ต้องตุน ผลิตจนเหลือก่อนส่งตลาดโลก

เศรษฐกิจ
16 มี.ค. 63
14:08
3,534
Logo Thai PBS
อาหารไทยไม่ต้องตุน ผลิตจนเหลือก่อนส่งตลาดโลก
ขอสังคมอย่าตื่นตระหนกกักตุนอาหารช่วงการแพร่ระบาดของCOVID19 เหตุผลผลิตในไทยยังเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ขอฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์นำเข้าส่งออกอาหารหวั่นซ้ำรอย "หน้ากากอนามัย"

วันนี้ (16 มี.ค.2563) นายจีระศักดิ์ คำสุริย์ ผู้จัดการแผนกวิจัยนโยบายอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังอยู่ในระยะที่ 2 ทำให้ประชาชนบางส่วนเริ่มมีการกักตุนอาหารเพื่อยังชีพ ซึ่งในภาพรวมของการส่งออกประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 11 ของโลก โดยเป็นการส่งออกมากกว่านำเข้า ซึ่งผลิตผลที่ส่งออกนั้น เมื่อบริโภคภายในประเทศเพียงพอจึงนำไปสู่การส่งออกภาพรวมของอาหารจึงไม่น่าจะมีปัญหา ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่ประชาชนบริโภคจะเป็นกลุ่มอาหารแห้ง หรืออาหารที่เก็บไว้ได้นานเช่น อาหารกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ ปลา และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

 

ปลากระป๋องไม่ขาดแคลน

นายจีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าที่ประชาชนนิยมซื้อในช่วงนี้ ได้แก่ปลากกระป๋อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ปลาซาดีน และแมคเคอเรล และปลาทูน่า ซึ่งกำลังการผลิตปลากระป๋องประเภทปลาซาดีนไทยสามารถผลิตได้เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากโมร็อกโก ปริมาณกว่า 100,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นการบริโภคภายในประเทศ 50,000 ตัน และส่งออก 50,000 ตัน เนื่องจากราคาถูกกว่าปลาทูน่า ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน

ขณะที่ปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งมีราคาที่แพงกว่าอาจเป็นที่นิยมน้อยกว่าสำหรับผู้บริโภคชาวไทย ก็กำลังผลิตอยู่ที่ราว 600,000 ตันต่อปี ส่วนใหญ่ส่งออก ร้อยละ 95 โดยบริโภคภายในประเทศไม่เกิน 100,000 ตันต่อปี ซึ่งก็มีปริมาณที่มากและไม่ขาดแคลนแน่นอน

ไทยสามารถผลิตปลาซาดีนกระป๋องได้เป็นจำนวนมาก ภาพรวมเป็นการบริโภคภายในประเทศครึ่งหนึ่งส่งออกครึ่้งหนึ่ง ซึ่งเพียงพอ และหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น หยุดการส่งออกก็จะมีปลาซาดีนกระป๋องบริโภคได้อีก 1 ปี สถานการณ์โดยรวมจึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

บะหมี่กึ่งสำเร็จบริโภคในประเทศเป็นหลัก

ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเป็นที่นิยมอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในแต่ละปีมีกำลังการผลิตกว่า 300,000 ตัน โดยส่วนใหญ่เป็นการบริโภคภายในประเทศประมาณร้อยละ 70 - 80 โดยเป็นการส่งออกประมาณร้อยละ 20 - 30 โดยการผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเพราะการส่งออกจะต้องอยู่ในปริมาณที่มากเนื่องจากมีสินค้าที่มีราคาต่อหน่วยต่ำหากปริมาณไม่มากก็จะไม่คุ้มค่าขนส่ง โดยอุตสาหกรรมนี้จะเน้นการบริโภคในประเทศเป็นหลักจึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก 

 

ขนส่งไม่มีปัญหาน้ำไม่ขาดแคลน

ขณะที่น้ำดื่มกำลังการผลิตเพียงพอเนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศ หากไม่มีปัญหาด้านการขนส่งก็จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก หรือหากมีปัญหาในเรื่องการขนส่ง ก็ยังมีผู้ลิตน้ำดื่มในท้องถิ่นที่สามารถเพิ่มหรือกระจายการผลิตไปยังผู้บริโภคได้ 

 

เนื้อไก่อาจกระทบช่วงสั้น

ผู้จัดการแผนกวิจัยนโยบายอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ทั้งไก่ หมู เนื้อ และอาหารทะเล เนื่องจากครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีตู้เย็นในการแช่อาหารและมักจะเก็บไม่นานนัก โดยอาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะไก่ซึ่งผู้ประกอบการวางแผนการเลี้ยงทั้งปีตามฤดูกาลตามความเหมาะสม ซึ่งอาจเร่งผลิตทันทีไม่ได้จึงอาจมีปัญหาในช่วงสั้น ๆ ระยะเวลา 1- 2 เดือน รวมถึงอยู่ในช่วงปิดเทอมจึงอาจจะมีปัญหาไม่มากนัก ขณะที่อาหารทะเลเป็นสินค้าที่ประชาชนไม่นิยมในการกักตุนมากนักเนื่องจากส่วนหนึ่งมีราคาที่สูง

ผู้เลี้ยงไก่จะวางแผนการเลี้ยงไก่เป็นรายปีให้ออกปริมาณตามเทศกาลเช่นตรุษจีน ปีใหม่ ทั้งนี้เพื่อคำนวณต้นทุนค่าอาหาร และอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับปริมาณขายในแต่ละช่วงเมื่อมีสถานการณ์ไวรัสCOVID-19 แพร่ระบาดอาจส่งผลให้มีการบริโภคจำนวนมาก ผู้เลี้ยงไก่ก็อาจจะต้องปรับแผนซึ่งไม่สามารถเร่งการผลิตได้หรือต้องรอให้ไก่โตเป็นเวลา 1-2 เดือน

น้ำท่วมปี 54 โรงงานผลิตไม่ได้ - ถนนขาด

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาโรงงานบางส่วนไม่สามารถผลินสินค้าได้รวมถึงเส้นทางขนส่งบางส่วนถูกตัดขาดจึงทำให้เกิดเปิดปัญหาขาดแคลนสินค้า แต่ขณะที่ในช่วงนี้โรงงานต่าง ๆ ยังคงสามารถดำเนินการผลิตได้ แต่ก็มีข้อสังเกตจากกรณีของต่างประเทศที่อาจมีการกักตุนสินค้าจำนวนมากทำให้เกิความต้องการสูงและมีคำสั่งซื้อมายังผู้ประกอบการชาวไทยมากขึ้นสินค้าบางส่วนอาจถูกส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้นทั้งในแง่ของปริมาณหรือราคาที่อาจสูงกว่าการจำหน่ายในไทย

กำลังการผลิตข้าวไทยสูง

ขณะที่ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของไทยกำลังการผลิตของไทยในแต่ละปีมีปริมาณกว่า 20 ล้านตัน โดยเป็นการบริโภคภายในประเทศร้อยละ 50 และส่งออกร้อยละ 50 ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหาขาดแคลนเนื่องจากข้าวนาปีปริมาณกว่า 20 ล้านต้น แต่ปีนี้ด้วยผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้มีข้าวจากการทำนาปรัง

เฝ้าระวังอาหาร หวั่นซ้ำรอย "หน้ากากอนามัย"

อย่างไรก็ตาม นายจีระศักดิ์ เสนอแนะว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตอาหารเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้ในหลายประเทศตัวเลขผู้ติดเชื้อCOVID-19 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงอาจให้ราคาที่สูงจากเดิมจึงอาจทำให้มีการส่งอาหารไปยังต่างประเทศมากขึ้น หากเปรียบเทียบกับ กรณีของหน้ากากอนามัยที่เมื่อมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศจำนวนมากและราคาที่สูงทำให้ผู้ผลิตเน้นการส่งออกจนส่งผลกระทบต่อความต้องการในประเทศได้

ประเทศไทยมีกำลังการผลิตอาหารที่ค่อนข้างสูง จนเปรียบเสมือนครัวโลก และการส่งออกส่วนใหญ่ก็เพราะการบริโภคภายในประเทศเพียงพอจึงนำไปสู่การส่งออก ซึ่งคาดว่าจะมีการเพิ่มปริมาณการซื้อของเล็กน้อยเพราะส่วนใหญ่มักที่จะซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภคเข้าบ้านสัปดาห์ละครั้งอยู่แล้ว ซึ่งอาจมีการซื้อเพิ่มเล็กน้อยในช่วงนี้

ทั้งนี้ สถาบันอาหาร ตั้งเป้าหมายเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารโลก และศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพอาเซียน ในปี 62 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารโลกอันดับที่ 11 มูลค่าส่งออก 33,100 ล้านดอลลาสหรัฐฯ ส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 2.51 จากปี 2561 อยู่ในอันดับที่ 12 เมื่อเทียบกับ 5 ประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ไทยอยู่อันดับที่ 2 รองจากจีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง