ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขข้อสงสัย! เมื่อ COVID-19 ถึงมือหมอ รักษาต่ออย่างไร

สังคม
20 มี.ค. 63
15:21
18,450
Logo Thai PBS
ไขข้อสงสัย! เมื่อ COVID-19 ถึงมือหมอ รักษาต่ออย่างไร
เปิดขั้นตอนรักษาผู้ป่วย COVID-19 มีส่วนน้อย-อาการหนัก ต้องใช้ยาต้านไวรัส-เครื่องช่วยหายใจ ส่วนผู้ป่วยทั่วไปอาการไม่รุนแรงแต่อาจมีผลข้างเคียงจากยาเล็กน้อย ชี้ ไทยเผชิญ COVID-19 กว่า 2 เดือน พบกลุ่มวัยทำงานติดเชื้อเยอะสุด

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พิเศษ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เกี่ยวกับขั้นตอนการรักษาผู้ป่วย COVID-19 มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการตรวจคัดกรองและการรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 เริ่มจากขั้นตอนการคัดกรอง ซึ่งแพทย์จะตรวจประวัติในประชาชนกลุ่มเสี่ยง และตรวจสัญญาณของอาการผู้ติดเชื้อ COVID-19 เช่น กลุ่มคนที่มีประวัติกลับจากประเทศที่มีการระบาด และมีไข้ ไอ และมีน้ำมูก ฯลฯ

การตรวจเชื้อกลุ่มเสี่ยง จะใช้เวลารอผล 4-6 ชั่วโมง ระหว่างนี้ กลุ่มอาการไม่หนัก และไม่มีประวัติใกล้ชิดกับบุคคลอื่นจะให้รักษาตัวและรอผลอยู่ที่บ้าน ขณะที่ “กลุ่มอาการหนัก” จะให้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว ก่อนการรักษาจะต้องมี "การตรวจเลือด" ซ้ำอีกครั้ง เพิ่มจากการตรวจหลัก คือ สารคัดหลั่งที่ได้จาก “คอหอย”

จากนั้นแพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้และน้ำมูก จะให้ยาลดไข้และยาลดน้ำมูก เป็นต้น 

ต่อมาแพทย์จะนำผู้ป่วยไปเอ็กซเรย์ปอด เพื่อตรวจหาอาการ “ปอดอักเสบ” หากพบปอดอักเสบ จึงจะให้ยาในกลุ่มยาต้านไวรัส ซึ่งมีหลายสูตรและต้องปรับตามความเหมาะสม เช่น ฟาวิพิราเวียร์ (สธ.เพิ่งนำเข้าเพิ่มเติมจากจีน) ควบคู่กับยากลุ่มยาต้าน HIV เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อรักษาตามขั้นตอนข้างต้น หากผู้ป่วยมีอาการป่วยไม่มากหรือปานกลาง จะใช้เวลารักษาประมาณ 2 สัปดาห์ ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะใช้เวลารักษาตัว 3-4 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น จนกว่าการตรวจเชื้อจะเป็นลบหรือไม่พบเชื้อ

สำหรับการตรวจเชื้อในขั้นตอนสุดท้ายนี้ จะต้องตรวจซ้ำ 2 ครั้ง ครั้งแรก และครั้งที่ 2 ต้องห่างกันอย่างน้อย 48 ชั่วโมง (2 วัน) หากผลเป็นลบ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้

 

ข้อมูลที่ นพ.โสภณ ให้เพิ่มเติมหลังรับมือโควิด-19 กว่า 2 เดือน คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80% อาการไม่หนัก อีก 15% มีอาการปานกลางและอีก 5% อาการรุนแรง

"สิ่งนี้ทำให้เราเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาต้านไวรัสและเครื่องช่วยหายใจ แต่ยังมีเปอร์เซ็นต์น้อย เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรกังวลในเรื่องของการรักษา กรณีที่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาต้านไวรัสหรือเครื่องช่วยหายใจ เพราะเรายังมีเพียงพอ"

ส่วนความแตกต่างระหว่างวัยของผู้ป่วยมีนัยยะสำคัญ คือ "เด็ก" ป่วยไม่หนักและอาการไม่รุนแรง ไม่เหมือนกับผู้สูงอายุที่อาการรุนแรงกว่า ขณะที่คนวัยทำงาน 20-59 ปี มีอัตราติดเชื้อสูงสุด เพราะกลุ่มนี้เข้าสังคมมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ไม่ใช่กลุ่มที่มีอัตราเสียชีวิตสูงสุด เพราะกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตยังเป็นผู้สูงอายุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยพบป่วย COVID-19 เพิ่มอีก 50 คน รวมเด็กวัย 6 เดือน

เปิดแผนที่ 23 จังหวัดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในไทย

เภสัชกรด่านหน้าดูแลประชาชน สู้วิกฤต COVID-19

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง