กทม.ถกเดลิเวอรี่ เน้นมาตรการปลอดโรค ส่งอาหารปลอดภัย

สังคม
23 มี.ค. 63
21:45
642
Logo Thai PBS
กทม.ถกเดลิเวอรี่ เน้นมาตรการปลอดโรค ส่งอาหารปลอดภัย
กทม. หารือกลุ่มธุรกิจเดลิเวอร์รี่ วางแนวทางจัดส่งอาหารปลอดภัย ลดการแพร่ระบาดCOVID-19

วันนี้ (23 มี.ค.2563) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งอาหาร (delivery) ในสภาวการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย เช่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บริษัท สกู้ตตาร์ ปิยอนด์ จำกัด บริษัท แฮปปี้เฟรช (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แกร็บ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เวล็อคช์ ดิจิตอล จำกัด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ลาลามูฟอีซี่แวน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท FOOD PANDA จำกัด บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด บริษัท แมคไทย จำกัด (แมคโดนัล) บริษัท พิชซ่าฮัท ประเทศไทย จำกัด

 

 

พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า วันนี้เชิญผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งอาหารร่วมหารือแนวทางการปฏิบัติด้านสุขอนามัย สำหรับให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารในรูปแบบเดลีเวอรี่ ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ และพนักงานขนส่งอาหารเดลิเวอรี่

เพื่อความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนแนวทางการลดค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งผู้แทนผู้ประกอบธุรกิจได้รับไปเสนอต่อผู้บริหาร ทั้งนี้ กทม. พร้อมสนับสนุนการสอนทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้แก่ผู้ประกอบการในกรณีที่พนักงานขนส่งไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยแบบ Surgical Mask ไม่ได้

 

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า หากทุกบริษัทมีข้อตกลงร่วมมือกันป้องกันความเสี่ยงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ผู้ประกอบการด้วย เช่น พนักงานขนส่งทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรหมั่นตรวจวัดไข้พนักงานขนส่ง โดยควรตรวจวัดไข้ทุกวัน ก่อนออกให้บริการ

สำหรับบางบริษัทที่พนักงานขนส่งไม่ได้เข้ามาที่บริษัท ให้บริษัทหาจุด check in สำหรับการตรวจวัดไข้ หากเป็นไปได้ควรรับชำระเงินให้ใช้ระบบ e-payment เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสธนบัตรและเหรียญ ในด้านเทคโนโลยีระบบติดตามตัว (tracking) ก็นับว่ามีความสำคัญ

หากมีการติดเชื้อจะสามารถติดตามได้ว่า พนักงานขนส่งเดินทางไปพบหรือสัมผัสใครบ้าง ส่วนกล่องสำหรับใส่อาหารที่ติดตั้งท้ายรถจักรยานยนต์ควรหมั่นทำความสะอาดทุกครั้งที่มีการส่งสินค้า เพื่อกำจัดเชื้อโรคอันเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง