วันนี้ (31 มี.ค.2563) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เวียนขอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ....ว่าด้วยการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมนั้น
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มีความเห็น ว่า อาหารทุกชนิดจำเป็นต้องระบุที่ฉลากว่า เป็นอาหารที่มีส่วนผสมของพืชดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอที่ฉลาก โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีส่วนผสมกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อมาบริโภค ตามหลักการสิทธิผู้บริโภคที่มีสิทธิรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ตนบริโภค
ทั้งนี้ตามร่างประกาศฯ ระบุว่า “ให้ระบุบนฉลากเฉพาะ เมื่อส่วนผสมที่มาจากการดัดแปรพันธุกรรม มากกว่าร้อยละ 5 ขึ้นไปเท่านั้น” ซึ่งเป็นการกระทำผิดหลักการของกฎหมาย และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า สำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการบริโภคสินค้าที่ทำ หรือมีส่วนประกอบจากพืชหรือสัตว์ ที่ทำมาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า การทำร่างประกาศ สธ.ว่าด้วยการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม จะต้องนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง แต่ร่างประกาศที่ออกมา แม้จะครอบคลุมทั้งพืชและสัตว์จีเอ็มโอทุกชนิด แต่กลับระบุให้รายงานเฉพาะที่มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปเท่านั้น
ทำให้ส่วนประกอบอื่นที่เป็นจีเอ็มโอ ที่ผู้ประกอบการจงใจใส่ลงไปในสูตร แต่น้อยกว่าร้อยละ 5 จะถูกยกเว้นไม่ต้องแสดงในฉลาก จนทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีส่วนผสมของจีเอ็มโอ และไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดจีเอ็มโอได้จริง
นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็น ผู้บริโภคยังต้องการให้มีการแสดงฉลากต้องแสดงข้อความด้วยตัวอักษรหนา และอ่านได้ชัดเจน สีของตัวอักษรตัดกับสีพื้นของฉลาก มีขนาดสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก และต้องแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม พื้นสีเหลืองตัวอักษรสีดำ โดยมีข้อความว่า “GMO” บนฉลาก ไม่ใช่เป็นแค่ความสมัครใจของผู้ผลิตเท่านั้น
ประธาน คอบช. กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะเลยกำหนดระยะเวลาการรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศฯ ฉบับนี้ไปแล้ว แต่ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บริโภคมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริง ในการบริโภคอาหาร
อย. ต้องรับฟังและพิจารณาปรับแก้ไขเพื่อรักษาประโยชน์ผู้บริโภคอย่างแท้จริง ไม่ใช่ห่วงผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะปัจจุบันห้องทดลองสามารถตรวจสอบได้หมดหากมีการใช้พืชสัตว์ดัดแปรพันธุกรรม โดยที่ทาง คอบช.และเครือข่ายจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดทุกระยะ