เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2563 สภาสถาปนิก ร่วมกับ ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUD4S) และสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเปิดตัวโครงการ ZERO COVID เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 เป็นการเร่งด่วน
รศ.ดร. ปิ่นรัชฏ์ กาญจนัษฐิติ คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า พันธกิจของคณะสถาปัตย์ฯ นอกเหนือจากเรื่องการเรียนการสอนแล้ว ยังมีเรื่องการนำองค์ความรู้ลงไปสู่ชุมชนด้วย จากสถานการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 ระบาดทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง สถานที่รองรับผู้ป่วยในอนาคตมีไม่พอเพียง จึงริเริ่มโครงการ ZERO COVID เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้คำปรึกษาด้านการออกแบบปรับปรุงอาคาร ในส่วนจุดคัดกรอง และส่วนดูแลผู้ป่วย COVID-19 โดยเบื้องต้นเป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่างสภาสถาปนิก สมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และศูนย์การออกแบบเพื่อสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และควรจะมีหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมโครงการอีกในอนาคต
ทั้งนี้โครงการ ZERO COVID มีวัตถุประสงค์หลักในการระดมสมาชิกและบุคลากรวิชาชีพสถาปัตยกรรมและการออกแบบในสาขาต่างๆ เพื่อนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านวิชาการ และด้านวิชาชีพ ออกแบบปรับปรุง และจัดการพื้นที่โรงพยาบาลรัฐ ให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด
พล.อ.ต.หม่อมหลวง ประกิตติ เกษมสันต์ นายกสภาสถาปนิก เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 มาตรา 7(5) กำหนดให้สภาสถาปนิกทำหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้บริการทางด้านวิชาการต่างๆ แก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการและเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรม ในภาวะปกติเรามีส่วนงานที่ทำหน้าในเรื่องนี้อยู่แล้วเมื่อประเทศชาติอยู่ในภาวะวิกฤติเช่นในขณะนี้ สภาสถาปนิกจึงถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะเข้ามาช่วยในส่วนที่สามารถทำได้ โดยได้ประสานงานขอให้สถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าไปดูพื้นที่และให้คำแนะนำ ในการปรับปรุงอาคารเพื่อให้เป็นพื้นที่กักกันควบคุมโรค
จากการประสานงานข้างต้น ทำให้ทราบว่า มีโครงการ ZERO COVID ที่กำลังดำเนินการในทำนองเดียวกัน และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานก็เป็นกลุ่มเดียวกัน จึงได้มีการหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการทำงาน ให้มีทิศทางสอดคล้องกัน โดยสภาสถาปนิกจะทำหน้าที่รับสมัครสมาชิกที่มีอยู่ทั่วประเทศ และจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสานงานโครงการ รวมทั้งประสานงานกับองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนองค์กรอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
“ผมขอเชิญชวนสมาชิก สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยจะมีกลุ่มสถาปนิกอาสาที่มีประสบการณ์มาทำหน้าที่กำหนดแนวทาง มาตรฐานการทำงาน ฝึกอบรม ตลอดจนให้คำปรึกษากับสถาปนิกอาสาก่อนที่จะลงพื้นที่ทั่วประเทศ และเรายังต้องการสถาปนิกอาสาอีกจำนวนมาก เพื่อทำงานสนับสนุนในด้านต่างๆ อีกด้วย” นายกสภาสถาปนิกกล่าว
นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUD4S) เปิดเผยว่า โครงการ ZERO COVID ประกอบด้วยโครงการย่อย 4 โครงการ คือ 1.ให้คำปรึกษาด้านการออกแบบให้กับโรงพยาบาลรัฐ 2.กำหนดแนวทางและออกแบบโรงพยาบาลสนามต้นแบบ 3.พัฒนาต้นแบบชุดอุปกรณ์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 4.วางแผนจัดการทรัพยากรระบบบริการสุขภาพบนฐานข้อมูลที่ได้จากการจำลองสถานการณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดเบื้องต้น ที่อยู่ระหว่างการวางแผนในรายละเอียด
นายกฤษณะ ธนะธนิต นายกสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สมาคมฯ เป็นหน่วยงานที่เริ่มต้นขับเคลื่อนโครงการ ได้มีการประสานงานไปยังสถาปนิกและนักออกแบบจากทุกสถาบัน เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการและรับใช้สังคมร่วมกัน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 300 คน จากทุกสถาบันทั่วประเทศ แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงขอเชิญชวนสถาปนิกและนักออกแบบที่มีจิตอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.act.or.th และ Facebook: zerocovidproject” นายกสภาสถาปนิกกล่าวปิดท้าย