วันนี้ (6 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตอบคำถามกรณีการขอให้ผู้หายป่วยบริจาคเลือดเพื่อนำไปผลิตเป็นการใช้พลาสมารักษา COVID-19 โดยระบุว่า เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มียารักษาโดยตรง และยังไม่มีวัคซีน จึงมีความพยายามในการค้นหาวิธีการรักษาเพื่อช่วยเหลือคนไข้ ซึ่งการไข้พลาสมา เป็นสารประกอบอยู่ในเลือด คนที่ติดเชื้อที่หายแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองจะมีประโยชน์ของภูมิคุ้มกันในการจะช่วยยับยั้ง หรือฆ่าเชื้อของคนที่ป่วย
บางคนประสบความสำเร็จ บางคนยังต้องใช้ประกอบการรักษาอื่นๆ ซึ่งสภากาชาดไทย อยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ จึงขอความร่วมมือจากผู้ป่วยที่หายแล้วมาบริจาค
อ่านข่าวเพิ่ม รอลุ้น! ใช้เลือดแท็กซี่หายป่วยสกัด "แอนติบอดี" ต้านโคโรนา
ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การรักษาโรคที่ยังไม่มียารักษา ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการนำภูมิคุ้มกันจากผู้ที่รักษาหายไปทดลองใช้รักษาผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการ ที่จีนได้ทดลองใช้มาตั้งแต่การระบาดของโรคนี้แล้ว
คนหายป่วย COVID-19 สร้างภูมิคุ้มกันโรค
ขณะที่นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ลัย อธิบายผ่านทางเฟซบุ๊ก นพ.ยง ภู่วรวรรณ กล่าวว่า COVID-19 พลาสมา หรือน้ำเหลืองที่ใช้ในการรักษาโรค การใช้พลาสมามารักษาโรคไม่ใช่เรื่องใหม่ ในผู้ที่หายจากโรคติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานมาต่อต้านเชื้อโรคนั้น เราสามารถใช้ภูมิต้านทานนั้น มาให้ผู้ป่วยใช้ช่วยในการรักษา เช่น เอามาทำเป็นเซรุ่ม โดยเซรุ่ม ที่เราใช้อยู่จะถูกสกัดมาอีกทีหนึ่งให้มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสตับอักเสบบี ในทำนองเดียวกันพลาสมาในผู้ป่วยที่หายจากโรค โควิด-19 ก็จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัส
เราจึงสามารถนำภูมิต้านทานนี้ มาช่วยเสริมในการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ได้
อ่านข่าวเพิ่ม จีนขอรับบริจาค "พลาสมา" ผู้ป่วยหาย COVID-19 ใช้รักษาโรค
ทั่วโลกยอมรับ-ต้องมีความปลอดภัย
วิธีการนี้เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วโลก และได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจน ถึงแนวทางการปฏิบัติ ในการตรวจภูมิต้านทานเพื่อนำพลาสมามาใช้ในกรณีนี้ ในปัจจุบันวิธีที่เชื่อถือได้ที่สุดจะต้องตรวจแบบ Neutralizing Antibody คือใช้ไวรัสโควิด-19 มาทำปฏิกิริยากับพลาสมานั้นว่าจะมีปริมาณ Neutralizing Antibody ที่สามารถที่จะหยุดยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้ในปริมาณเท่าไหร่
วิธีการนี้ค่อนข้างซับซ้อน และต้องใช้ไวรัสเชื้อเป็นที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 จึงจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงระดับ 3 และแน่นอนจะต้องมีการตรวจเชื้ออื่นๆในพลาสมาตามมาตรฐานการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด
สำหรับคนปกติที่ไม่เคยติดเชื้อ ถ้าต้องการจะบริจาคพลาสมา อยากจะแนะนำให้มาบริจาคโลหิต ก็จะเป็นการบริจาคได้ทั้งเม็ดโลหิตแดง ขาวและเกล็ดเลือด รวมทั้งพลาสมาไปพร้อมกันเลย อันจะเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ในภาวะวิกฤตนี้ ในภาวะขณะนี้มีผู้บริจาคลดน้อยลง ก็อยากจะขอเชิญชวนผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อ มาร่วมกันบริจาคโลหิต ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบริจาคพลาสมาเพื่อใช้ในการรักษาโรค COVID-19
นอกจากนี้ นพ.ยง ระบุว่า ได้มีการทำกันมานานแล้วในการระบาดของโรคเกิดใหม่ เช่น สมัย SARS, MERS, Ebola และก็เช่นเดียวกัน มีการนำมาใช้ในการรักษาโรค COVID-19 ที่อยู่ในภาวะวิกฤตในประเทศจีน มีราย งานในวารสารที่มีชื่อเสียง ได้ผลดีในการรักษา เช่นในวารสาร Chest, JAMA และอื่นๆ ขอยกตัวอย่างในวารสาร JAMA
สภากาชาดไทยชวนคนหายป่วยบริจาค "พลาสมา"
ทั้งนี้สภากาชาดไทย ชวนผู้ป่วย COVID-19 ที่หายแล้วต้องการบริจาคพลาสมา ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพื่อนำไปทำยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงได้ โดยเปิดให้ผู้ป่วย COVID-19 ที่หายดีไม่มีอาการแล้ว (เท่านั้น) ออกจากโรงพยาบาลและกักตัวที่บ้านครบ 14 วันแล้ว สุขภาพแข็งแรงดี น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 50 ลงทะเบียน Online โดยเจ้าหน้าที่จะติดต่อนัดหมาย เพื่อคัดกรองต่อไป สอบถามโทร.02-2564300
มีรายงานว่ากลุ่มเซียนมวยที่หายป่วยได้เชิญชวนเข้าบริจาคพลาสมาให้กับสภากาชาดไทยแล้ว โดยก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข ก็เคยทดลองนำเลือดของแท็กซี่ที่หายป่วยจากโรคคนแรกไปทดลองใช้รักษาผู้ป่วยอาการหนัก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ป่วยตายเพิ่มอีก 3 คน-ลั่นยังไม่เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงให้เวลาปรับตัว
สภากาชาดไทยชวนบริจาค "พลาสมา" ช่วยผู้ป่วย COVID-19
แพทย์เซี่ยงไฮ้ ใช้ "พลาสมา" รักษาคนป่วย COVID-19