วันนี้ (7 เม.ย.2563) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มขีดความสามารถด้านกำลังคนให้มีจำนวนเพียงพอ และมีสมรรถนะเหมาะสมในการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน การขออนุมัติตำแหน่งข้าราชการอัตราตั้งใหม่นี้ เป็นการขอบรรจุบุคลากรที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ในการทำงานวิชาชีพ อีกทั้งยังเป็นกำลังหลักในกรปฏิบัติงานด่านหน้า ทำงานในที่ที่มีความเสี่ยง ต้องทำงานผลัดเวรตลอด 24 ชั่วโมง
ในส่วนของรายละเอียดการบรรจุข้าราชการใหม่ดังนี้
- อัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน24 สายงานรวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา
- อัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 ใน 5 สายงาน จำนวน 7,579 อัตรา
- คัดเลือกบรรจุบุคคลซึ่งมิได้สำเร็จการศึกษาในวุฒิที่ กพ. กำหนด ให้คัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการตามหนังสือสำนักงาน กพ. ที่ นร1004/ว/17 ลงวันที่ 19 กันยายน 2562
ในส่วนของการบรรจุอัตรข้าราชการใหม่นั้น ในรายละเอียดหลักเกณฑ์จะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุม คปร. (ซึ่งกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงานภายใน2 สัปดาห์) จากนั้นจะส่งเรื่องให้ กพ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการนำเสนอ รายงานต่อ ครม. เพื่อรับทราบตามที่ ครม. ได้อนุมัติ ต่อไป
น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า ครม.ได้พิจารณามาตรการการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขดังนี้ สนับสนุนเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข จัดสรรโควตาพิเศษความดีความชอบพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารรณสุข การปรับสิทธิประโยชน์ของบุคลากรที่ได้รับความเสียหายกรณีปฏิบัติหน้าที่ (กรณีเสียชีวิต เจ็บป่วย ทุพพลภาพ) และนับเวลาอายุราชการทวีคูณเพิ่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ ลดอัตรดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลกรุงไทยธนวัฏ / ธนาคารออมสิน ระยะเวลา 1 ปี สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ปรับอัตราชดเชยใน ม.18 ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการทางสาธารณสุข (กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 จำนวน 2 เท่าจากอัตราเดิม)
ทั้งนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติในหลักการ ส่วนในรายละเอียดให้ไปหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียด โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประกอบการจัดทำด้วย