วันนี้ (12 เม.ย.2563) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า อสม.กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ได้ร่วมดำเนินการโครงการ อสม.เคาะประตูบ้าน ตั้งแต่ 2 มี.ค.- 26 มี.ค. สามารถเคาะประตูบ้านประชาชนทั่วประเทศได้กว่า 3.3. ล้านหลังคาเรือน และพบกลุ่มเสี่ยงถึง 22,485 คน โดยนอกจากคัดกรองแล้วยังได้นำแอลกอฮอล์เจล และหน้ากากผ้าไปแจกให้แก่ประชาชน พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไวรัส COVID-19 ด้วยตนเอง
ภาพ : เพื่อน อสม.
ต่อมาได้ขยายโครงการหลังพบผู้เดินทางกลับจาก กทม. และเดินทางมาจากต่างประเทศ จึงได้เริ่มดำเนินโครงการ 14 วัน สแกนคนในพื้นที่ให้จบ ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. - 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดย อสม.ได้ไปเคาะประตูบ้านเพิ่มเติมอีก 8 ล้านหลังคาเรือน รวมแล้ว 11.8 ล้านหลังคาเรือนทั่วประเทศ และได้พบกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเฝ้าระวังถึง 660,850 คน
ในจำนวนนี้พบเป็นคนเดินทางมาจากต่างประเทศถึง 59,178 คน และเดินทางมาจาก กทม.ถึง 463,756 คน และอีกกลุ่มคือกลุ่มคนมาจากพื้นที่เสี่ยง เช่น ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง อย่างกลุ่มสนามมวย กลุ่มสถานบันเทิง หรือธุรกิจบางอย่าง จำนวน 137,936 คน
สนับสนุนอาวุธให้ อสม.ทั่วประเทศสู้ไวรัส
ทั้งนี้ จากการดำเนินการของ อสม.อย่างต่อเนื่อง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้สนับสนุนหน้ากากอนามัยให้ อสม.ทุกคน ขณะที่สภากาชาดไทยยังได้สนับสนุนหน้ากากผ้า 2 ล้านชิ้น กระจายให้ อสม.ทั่วประเทศ
อีกทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนอื่นๆ ก็ได้สนับสนุนทั้งหน้ากากผ้า ถุงซิปล็อก อุปกรณ์ป้องกันหน้า (Face Shield) และเจลแอลกอฮอล์อีก 1 ล้านหลอดด้วย โดยทั้งหมดจะส่งไปถึงสมาชิก อสม.โดยตรง เพื่อเป็นอาวุธให้ต่อสู้กับ COVID-19
ภาพ : เพื่อน อสม.
นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยังได้ประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยช่วยเหลือดูแลด้านสวัสดิการให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยในกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรฯ ช่วยเหลือ 240,000 - 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะ พิการฯ ช่วยเหลือ 100,000 - 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง ช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่ง อสม.ได้รับสิทธิเช่นเดียวกันกับบุคลากรทางการแทย์ และอยู่ระหว่างประสานธนาคาร ธกส. และบริษัทประกันภัย เพื่อสนับสนุนกรมธรรม์ให้ อสม. จำนวน 80,000 กรมธรรม์
เน้นเชื่อมโยง-เก็บฐานข้อมูล กทม.ด้วยกูเกิ้ลฟอร์ม
ด้าน นพ.สมชาย ตรีทิพย์สถิตย์ ผอ.กองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กทม. ระบุว่า อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) ได้ดำเนินการเคาะประตูบ้านเช่นเดียวกันกับ อสม.ในต่างจังหวัด โดยมีบทบาทในการเฝ้าระวังและควบคุมโรค โดยสำนักอนามัยได้ให้องค์ความรู้ในการควบคุมโรค และเสนอแนวทางการเข้าถึงข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงวิธีการเคาะประตู และการใช้กูเกิ้ลฟอร์มเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงกันและเก็บเป็นฐานข้อมูลได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงในเชิงพื้นที่ เช่น อาศัยในคอนโด บ้านห้องแถว หรืออาศัยอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ กทม.ยังได้สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ และเน้นย้ำให้อาสาสมัครรักษาระยะห่างทางสังคมด้วย เพราะบางคนก็มีอายุมาก จึงต้องดำเนินการอย่างรัดกุมเพื่อป้องกันตามาตรการต่างๆ โดยใน กทม. ทั้ง 50 เขต มี อสส. อยู่ 15,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มลงพื้นที่ดูแลเฝ้าระวัง และกลุ่มช่วยเหลือ สนับสนุนสำนักงานเขต และประสานกับพื้นที่ local quarantine ด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศบค.สั่งห้ามฉีดพ่นเล่นน้ำสงกรานต์ในบ้านเสี่ยงแพร่ COVID-19
รพ.เอกชนหนุนรัฐดูแลผู้ป่วย COVID-19 "333 คน" เสริมเตียงนับพัน
"ภูเก็ต" สแกนตรวจเชิงรุกกว่า 3,000 คน เริ่มคุม COVID-19 ได้