วันนี้ (15 เม.ย.2563) นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า ได้ยื่นหนังสือประเด็นความเดือดร้อนของบุคลากรด้านการบิน และแนวทางช่วยเหลือ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทำแบบสำรวจผลกระทบจากปัญหา COVID-19 ต่อบุคลากรด้านการบิน ระหว่างวันที่ 2-7 เม.ย.2563
จากการรวบรวมประมาณ 2,000 คน แต่ทั้งหมดตอบว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือและไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากธุรกิจการบินมีข้อจำกัด ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจซึ่งมีความยุ่งยากมาก ทำให้ไม่สามารถปิดตัวได้เพื่อให้พนักงานไปรับเงินช่วยเหลือตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
ขณะที่ผู้ประกอบกิจการต่างๆ เลือกใช้วิธีลดค่าตอบแทนพนักงานลงตามปริมาณงานที่น้อยลง ซึ่งทำให้เกิดความเดือนร้อนในพนักงาน 2 กลุ่มคือ กลุ่มพนักงานในกิจการที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีรายได้น้อย หรือถูกลดค่าตอบแทนในอัตราที่สูง ซึ่งตามกฏหมายถือเป็นพนักงานของรัฐ และกลุ่มพนักงานในกิจการเอกชนที่มีรายได้น้อย หรือถูกลดค่าตอบแทนในอัตราที่สูง เนื่องจากรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนแปรผันตรงกับชั่วโมงการทำงาน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำประเด็นความเดือดร้อนของบุคลากรด้านการบินหารือเพื่อกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือต่อรัฐบาล ได้แก่ เรื่องมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยให้พนักงานในทุกกิจการด้านการบินซึ่งมีรายได้ไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี เช่น การใช้สิทธิรับเงิน 5,000 บาท ในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" มาตรการเงินกู้พิเศษจากสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ ยังขอให้พิจารณาช่วยเหลือมาตรการลดรายจ่ายให้พนักงาน เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการลดภาระสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กพท.ขยายเวลาห้ามเครื่องบินโดยสารเข้าไทยถึง 30 เม.ย.นี้
พิษ COVID-19 ทำเอา "อุตสาหกรรมการบิน" อาจถึงล่มสลาย?
COVID-19 ลาม ทำอุตสาหกรรมการบินทรุด