วันนี้ (16 เม.ย.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำยางพารามาใช้ ในภารกิจของกระทรวงคมนาคมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ หลังจากได้รับผลการทดสอบการรับแรงกระแทกของแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์คอนกรีต (Rubber Fender Barrier) จากสถาบัน KATRI (Korea Automobile Testing & Research Institute) สาธารณรัฐเกาหลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจพบว่า แบริเออร์แบบเดิมที่มีความสูง 90 เซนติเมตร ทำมุม 20 องศา จะสามารถรับแรงปะทะความเร็วของรถได้ 90 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
ขณะที่เมื่อนำยางพารามาแปรรูปเป็นแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์คอนกรีต ตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะสามารถรับแรงปะทะได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หรือรถใช้ความเร็ว 120-130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อปะทะแล้วจะไม่เกิดการพลิกคว่ำ
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อรับทราบถึงปริมาณที่กระทรวงคมนาคมจะรับยางพาราไปแปรรูป ก่อนที่จะเสนอของบประมาณต่อไป
สำหรับถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง มีระยะทาง 52,085.745 กิโลเมตร โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) มีแผนที่จะใช้แผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์คอนกรีตบริเวณเกาะสี รวม 1,029.70 กิโลเมตร

ส่วนของกรมทางหลวงชนบท มีถนนในความรับผิดชอบระยะทาง 48,597.753 กม. โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) มีแผนที่จะใช้แผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์คอนกรีต รวม 749.035 กิโลเมตร แบ่งเป็น เกาะสี 209.10 กิโลเมตร, เกาะหลุม (ร่องน้ำ) 78.93 กิโลเมตร, เกาะยก 369.414 กิโลเมตร, เกาะแบริเออร์เดิม 72.277 กิโลเมตร และที่จะก่อสร้างใหม่ 19.281 กิโลเมตร
ขณะที่ต้นทุนในการก่อสร้างนั้น 1 เมตร จะอยู่ที่ราคาไม่เกิน 7,000 บาท แบ่งเป็น แบริเออร์คอนกรีตเดิมประมาณ 3,000 กว่าบาท และแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ประมาณ 3,344 บาท (ยางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ราคากิโลกรัม (กก.) ละ 35-40 บาท) ซึ่งขึ้นอยู่กับราคายางด้วย กล่าวคือ กรณียางพาราแผ่น 55-60 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์จะอยู่ที่ประมาณ 3,995 บาท
หากราคายางอยู่ที่ 35-40 บาทต่อกิโลกรัม เงินจะถึงเกษตรกร 2,167.22 บาทต่อ 1 เมตร หรือคิดเป็น 69 % และถ้าราคายางอยู่ที่ 55-60 บาทต่อกิโลกรัม เงินจะถึงเกษตรกร 2,775.69 บาทต่อ 1 เมตร หรือคิดเป็น 74 % ซึ่งถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปรับใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนด้วย
จากเดิมในอดีตที่นำยางพารามาใช้ในการปูพื้นทาง โดยมีราคาอยู่ที่ 80 บาทต่อตารางเมตร แต่เงินถึงเกษตรกรเพียง 13 บาทเท่านั้น หรือไม่ถึง 20 % อย่างไรก็ตาม นอกจากการนำยางพารามาใช้ทำแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออนั้น ยังมีแนวคิดที่จะนำมาทำเสาหลักถนนด้วย
นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาเป้าหมายการดำเนินการทั้งหมดของถนน ทล. และ ทช. แล้วนั้น จะต้องนำยางพารามาใช้ในถนนระยะทาง 12306.925 กิโลเมตร (3 ปี) โดย 1 เมตร ใช้จะต้องใช้น้ำยางพารา 28 กก. โดย 1 กิโลเมตร จะต้องใช้รวม 28 ตัน ระยะเวลา 3 ปี รวมใช้ยาง 336,000 ตัน ซึ่งใช้มากกว่าปริมาณยางในการนำไปก่อสร้างผิวทาง นอกจากนี้ ยังใช้งบประมาณถูกกว่าการก่อสร้างแบบริเออร์ประเภทอื่นๆ ด้วย คือ จากข้อมูลของ ทล. ระบุว่า การก่อสร้างเกาะถนนประเภทอื่นจะมีต้นทุนอยู่ที่ 10,000 บาทต่อ 1 เมตร หรือ 10 ล้านบาทต่อกิโลเมตร แต่แผ่นยางพาราหุ้มแบริเออใช้งบประมาณเพียง 7 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ซึ่งจะประหยัดได้ถึงร้อยละ 30