ผล COVID-19 คาดสถิติ “เจ็บ-ตาย” อุบัติเหตุทางถนนลด 10%

สังคม
23 เม.ย. 63
18:35
639
Logo Thai PBS
ผล COVID-19 คาดสถิติ “เจ็บ-ตาย” อุบัติเหตุทางถนนลด 10%
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ระบุผลพวงโรค COVID-19 คาดการณ์สถิติอุบัติเหตุไทยลดลงกว่า 10% ถือเป็นเรื่องเกินความคาดหมายที่ลดลงมากในรอบหลายปี วัดผลจากช่วง 7 วันสงกรานต์ยอดคนเจ็บ-ตายลด 3 เท่า แนะใช้วิกฤตเป็นโอกาสวางแผนรับมือ

วันนี้ (23 เม.ย.2563) นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า มาตร การล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ส่งผลทำให้รถบนถนนน้อยลง ทำให้คนขับรถใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าแม้สถิติอุบัติเหตุลดลง แต่ความรุนแรงกลับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลจาก บ.กลางคุ้มครองประกันภัยจากรถ ยังพบด้วยว่าการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดแนวโน้มไม่ลดลงตั้งแต่ช่วงมี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประสบเหตุมีโอกาสเสียชีวิตสูง

ดังนั้น มาตรการเฝ้าระวังอุบัติเหตุยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะเมื่อเกิดเหตุผู้บาดเจ็บต้องเข้าห้องฉุกเฉิน นอกจากเพิ่มภาระให้ทีมแพทย์และบุคลากรแล้ว ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ COVID-19 อย่างกรณีของ จ.ชลบุรี อันมีสาเหตุมาจากคนไข้ไม่ให้ข้อมูล

คาดสถิติอุบัติเหตุทางถนนลดร้อยละ 10

นพ.วิทยา กล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในขณะนี้ ประกอบกับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ น่าจะทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนในปีนี้ลดลง 10% ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก หากเทียบกับในภาวะปกติ จากการทำงานศวรรษด้านความปลอดภัยทางถนน ระหว่างปี 2554-2563 การจะลดสัดส่วนคนตายลงได้ขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้สำเร็จได้ภายในปีเดียว อย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไป

ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการโครงการแผนงานความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลไทย ด้านความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่าตัวเลขบาดเจ็บและเสียชีวิต ในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ 2563 ที่ลดมากกว่าครึ่ง สรุปยอดบาดเจ็บเข้ารักษาในโรงพยาบาล 1,700 คนจากปกติเกือบ 5,000 คน และยอดผู้เสียชีวิต 150 คนจากปกติ 400-500 คน

ก่อนหน้านี้ช่วงวันสงกรานต์ 13-15 เม.ย.ของทุกปี เป็นเวลาแห่งความกังวล ของคนทำงานด้านความปลอดภัยทางถนน ต้องลุ้นระทึกถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตบนถนน ทั้งช่วงก่อนหน้าและหลังสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันเดินทางไปกลับภูมิลำเนา รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละครอบครัว ยกเว้นปีนี้ที่คนทั้งโลกและคนไทยเอง ต้องทุลักทุเลอยู่กับการป้องกันตัวเอง จากโรคระบาดของโรคทำให้ทุกคนต้องอยู่บ้านเพื่อชาติ และปรับรูปแบบการใช้ชีวิตผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ จากการหาข้อมูลเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่าง “โควิด-19” กับ “ความปลอดภัยทางถนน” ปรากฏบทความ Dr. Soames Job ผู้เชี่ยว ชาญ ด้านความปลอดภัยทางถนนของธนาคารโลก เขียนถึงความน่ากลัวจากการเสียชีวิตเพราะ COVID-19 เทียบกับการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากการโดนรถชน ไว้อย่างน่าสนใจ สามารถสรุปเป็นบทเรียนและนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อบริหารจัดการและลดอุบัติเหตุทางถนนในบ้านเรา เขาบอกว่า มาตรการ “กักตัว” ช่วยให้อุบัติเหตุลดลง แต่ความปลอดภัยทางถนนยังถูกมองข้าม ยกตัวอย่างกรณีมีคำสั่งห้ามผู้คนออกจากเคหะสถาน ผลพลอยได้ทำให้รถบนถนนน้อยลง จำนวนอุบัติเหตุ บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตลดลงตามไปด้วย

ประยุุกต์ COVID-19 แก้ปัญหาอุบัติเหตุ

ปรากฏการณ์นี้เป็นปัจจัยแทรกเข้ามา ในวงความปลอดภัยทางถนนอย่างชัดเจน แต่เรื่องความปลอดภัยทางถนนก็ยังถูกมองข้าม เพราะคนในแวดวงระบบขนส่งเอง ยังมองเป็นเรื่องแคบๆ กลับไปสนใจประเด็นลดการปล่อยมลพิษ หรือค่า PM 2.5 ทั้งที่ควรใช้โอกาสนี้ ปรับปรุงเส้นทางและระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย มีความเป็นไปได้ที่หลังการแพร่ระบาดหมดไป คนอาจเรียนและทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลทำให้รูปแบบการเดินทางเปลี่ยนไป การใช้ขนส่งสาธารณะอาจลดลง หากไม่มีนโยบายเข้ามาแทรกแซง เพราะคนจะหันไปใช้รถส่วนตัวกันมากขึ้น เนื่องจากถนนโล่งรถไม่ติด ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมความเร็ว และอาจต้องออกแบบถนนให้เล็กลง ให้พอเหมาะกับยวดยาน เพื่อบังคับให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง

นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า การตอบสนองต่อ COVID-19 เราสามารถเรียนรู้แล้วประยุกต์ใช้กับความปลอดภัยทางถนนได้ ภายใต้การบริหารจัดการประกาศล็อคดาวน์ที่เกิดมากขึ้น ช่วยลดการหลบหลีกการตรวจวัดผู้ติดเชื้อ และขยายวงไปสู่ระงับการรวมตัวคนในสังคม ผ่านการประกาศต่อสาธารณะอย่างทั่วถึง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สิ่งเหล่านี้สามารถเอาไปปรับใช้กับการรณรงค์ลดการชนบนถนนได้

ผลงานวิจัยด้านการสื่อสารและบังคับใช้กฎหมายชี้ชัดว่า การทำแบบนี้ไม่ได้เปลี่ยนแค่พฤติกรรม เพราะได้แรงกดดันทางสังคมมาช่วยด้วย เท่ากับมาส่งเสริมบรรทัดฐานทางสังคม หากเราบอกว่าคนที่ฝ่าฝืนการล็อกดาวน์ คือผู้ที่ทำให้เกิดเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ก็ไม่ต่างกับคนขับรถเร็วที่เพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดอุบัติเหตุเหตุให้กับผู้ร่วมถนน 

นพ.วิวัฒน์ ย้ำว่า การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไทย จำเป็นต้องยกให้เป็นมิติสำคัญทางการเมือง เช่นเดียวกับการสื่อสารและบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 เนื่องจากที่ผ่านมาประ เด็นความปลอดภัยทางถนน เป็นเรื่องที่ภาคการเมืองไม่ค่อยให้ความสำคัญ การหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอด ภัยทางถนน เป็นประเด็นชายขอบที่ไม่มีใครสนใจ

เราจึงจำเป็นต้องรวมกันผลักดันผู้บริหารประเทศ และนักการเมืองให้รับผิดชอบความตายของเหยื่อบนถนน แทนที่จะมากล่าวโทษปัจเจกบุคคล นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ค่าใช้จ่ายต่อโรคระบาด และมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการปิดเมืองที่สูงมาก ทำให้เกิดเป็นกระแสการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยว ชาญและแรงหนุนของโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้ต่างกันเลยกับค่าใช้จ่ายมูลค่าการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จากการเพิ่มความเร็วในการขับขี่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง