วันนี้ (27 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์ COVID-19 ว่า วันนี้มีการประชุมใหญ่ ศบค. โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ โดยให้แนวทางการผ่อนปรนเป็น 4 ระยะ โดยใช้เวลาทบทวนแต่ละระยะเป็นเวลา 14 วัน และให้มีการประเมินมาตรการต่างๆ
ต้องย้ำว่าหากเปิดแล้วก็ปิดได้ เพราะไม่อยากให้เกิดการระบาดระลอก 2 หากประเมินว่าตัดสินใจมาตรการต่างๆ แล้วก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้
สำหรับผลสัมฤทธิ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 เดือน ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศลดลงต่อเนื่อง โดยหลังสำรวจความเห็นประชาชน 40,000 คน เห็นด้วยที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากกว่า 70%
ที่ประชุม ศบค.จึงมีมติเห็นควรให้พิจารณาขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 พ.ค.2563
นอกจากนี้ยังมี 4 มาตรการตามข้อกำหนดที่ต้องคงไว้ ซึ่งจะเสนอ ครม.พิจารณา ได้แก่ 1.ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค.2563 2.งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด 3.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว และ 4. งดการดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก
ส่วนแนวทางการผ่อนปรนในมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่ต้องมีแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก เน้นทำงานที่บ้านให้คงอยู่ 50% พร้อมให้ทุกคนสวมหน้ากากต่อเนื่อง วัดอุณหภูมิ ล้างมือ เว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคนในกิจกรรมหรือสถานที่ และมีแอปพลิเคชันติดตามตัว ทั้งนี้การประเมินผล หากดีขึ้นสามารถผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมได้ แต่หากไม่ดีขึ้นก็สามารถระงับมาตรการดังกล่าวได้ทันที
แบ่ง 4 ประเภทผ่อนปรนธุรกิจ
โฆษก ศบค.ระบุอีกว่า ศบค.ได้เสนอให้ผ่อนปรนในธุรกิจต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ "สีขาว" เป็นธุรกิจจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่สามารถควบคุมได้ หรือสวนสาธารณะ "สีเขียว" เป็นสถานที่ประกอบการขนาดเล็ก หรือสนามออกกำลังกายกลางแจ้ง "สีเหลือง" เป็นสถานประกอบการพื้นที่ปิด ติดแอร์ และ "สีแดง" เช่น สนามมวย สถานที่แหล่งบันเทิงที่มีการแออัด และมีความเสี่ยงสูง
นายกฯ เห็นชอบในหลักการแล้วว่าควรแบ่งเกณฑ์ให้ชัดเจนและกำหนดเวลา แต่หวังว่าเมื่อเปิดได้ก็อยากให้เปิดได้ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง โดยให้สภาพัฒน์ฯ ไปพูดคุยรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากทันจะเสนอใน ครม.พรุ่งนี้ (28 เม.ย.)
พร้อมยืนยันว่ามาตรการต่างๆ มีการพูดคุยกันอย่างละเอียด โดยนำข้อมูลทั้งด้านวิชาการ สาธารณสุข การจัดกิจกรรม แอปพลิเคชัน รวมถึงการติดตามโดยใช้กล้อง CCTV ซึ่งนายกฯ ไม่ได้เร่งรีบ แต่ขอให้ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบและให้เกิดความมั่นใจ
ส่วนกรณีการผ่อนปรนสถานประกอบการให้เปิดทำการ สภาพัฒน์ฯ ได้เสนอเกี่ยวกับมาตรการการผ่อนปรนต่างๆ ซึ่งขณะนี้เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ยังต้องไปศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนและดูเรื่องผลกระทบ ดังนั้นจึงต้องรอความชัดเจนจาก ครม.ก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวดี! ผู้ป่วย COVID-19 ต่ำสุดแค่ 9 คนในรอบ 1 เดือน
ศบค.มีมติเลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์เดือน พ.ค. หวั่นแพร่ระบาดซ้ำ
ตัวแทนธุรกิจค้าสุราขอนายกฯ ผ่อนปรนคนซื้อกลับบ้านได้