วันนี้ ( 30 เม.ย.2563) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลา 13.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีกล่าวหาค้ามนุษย์จากการค้าประเวณีเด็กหญิงอายุไม่เกิน 18 ปี ในสถานอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท สำนวนที่ 2 คดีที่อัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ 1 ยื่นฟ้อง นายเฉลียว จันทร์พิมพ์ หรือ เอส (ไม่ทราบอายุ) วินจักรยานยนต์รับจ้าง , นายบุญทรัพย์ อมรรัตนาศิริ หรือ ป๋ากบ อายุ 57 ปี , นายศรัทธาธรรม แจ้งฉาย หรือ ป๋าติ๊ก อายุ 69 ปี ผู้จัดการสถานบริการ , น.ส.ศศิธร วิระเทพสุภรณ์ อายุ 48 ปีในดฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจใน หจก.อมรินทร์ ออนเซน ที่ขอใบอนุญาตดำเนินกิจการ , หจก.อัมรินทร์ ออนเซน , นายเวดชา สิงห์สาครเดชา หรือ หนู (ไม่ทราบอายุ) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 ,6,9,10,11,52,53 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 มาตรา 3,4,6 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4,9,11,53 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5,6,25,32 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282
โดยอัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 5 เม.ย.61 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างเดือน ก.ค.57 วันเวลาใด ไม่ปรากฏชัด - 13 ม.ค.60 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้ง 5 กับพวกซึ่งมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ลักษณะเป็นเครือข่ายดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป กระทำผิดร้ายแรง โดยเป็นธุรจัดหาซื้อขาย จำหน่าย พาไปส่ง หน่วงเหนี่ยวกักขังหรือหลอกลวง ด.ญ.ชาวเมียนมาร์ อายุไม่เกิน 15 ปี จากประเทศเมียนมาร์ มาส่งยังประเทศไทยและไปประเทศมาเลเซีย เพื่อแสวงหาประโยชน์จากหญิงเมียนมาร์ด้วยการบังคับให้ค้าประเวณีอันเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และนางศศิธร จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.อัมรินทร์ออนเซน ของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่เมื่อเดือนก.ค.57 - 4 ก.ค.59 จำเลยที่ 2-5 ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณี ผู้ดูแล และ ผู้จัดการกิจการค้าประเวณี ภายใต้ชื่อสถานบริการอาบอบนวด วิคตอเรียซีเครท ตั้งอยู่เลขที่ 555 ซอยศูนย์วิจัย 4 ถ.พระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อทำการค้าประเวณี เด็กหญิงอายุ ต่ำกว่า 15 ปี โดยคดีนี้มีผู้เสียหายหญิงเมียนมาร์ ขณะเกิดเหตุอายุ 12 ปี เศษได้เข้ามาในประเทศ โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ที่ได้มาอาศัยอยู่ที่ห้องพักแมนชั่น ย่าน ถ.ประชาอุทิศ เขตห้วยขวาง กทม.ซึ่งพวกจำเลยได้ร่วมกันนำพาผู้เสียหาย มาจากประเทศเมียนมาร์และให้ผู้เสียหายค้าประเวณีทั้งที่สถานบริการอาบอบนวด วิคตอเรียซีเครท และสถานที่ต่างๆ เหตุเกิดที่ประเทศเมียนมาร์, อ.แม่สาย จ.เชียงราย , แขวงสามเสนนอก และแขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. ด่านตรวจคนเข้าเมืองด่านนอก อ.สะเดา , อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในชั้นพิจารณาจำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ
ซึ่งศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ส.ค.61 ให้จำคุก นายบุญทรัพย์ จำเลยที่ 2 , นายศรัทธาธรรม ผู้จัดการสถานบริการ จำเลยที่ 3 คนละ 3 ปี 4 เดือน ฐานเป็นธุระจัดหาฯ และเป็นผู้ดูแล-ผู้จัดการสถานที่ค้าประเวณี , จำคุก น.ส.ศศิธร จำเลยที่ 4 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจใน หจก.อมรินทร์ ออนเซน ที่ขอใบอนุญาตดำเนินกิจการ เป็นเวลา 8 เดือน และนายเดชา สิงห์สาครเดชา จำเลยที่ 5 ที่ขับรถกระบะพาเด็กสาวผู้เสียหายที่ถูกส่งตัวจาก กทม.ไป อ.สะเดา จ.สงขลา ไปค้าประเวณียังประเทศมาเลเซีย และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำคุกเป็นเวลา 6 ปี โดยให้ยกฟ้องจำเลยในข้อหาค้ามนุษย์เพราะพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังให้ลงโทษ
ส่วนนายเฉลียว จำเลยที่ 1 วิน จยย.รับจ้าง และ หจก.อมรินทร์ ออนเซน จำเลยที่ 5 พิพากษาให้ยกฟ้อง ต่อมาทั้ง อัยการโจทก์ และจำเลยที่ 2,3,4,6 ยื่นอุทธรณ์
ขณะที่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า โจทก์ มีข้าราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า มูลนิธิพิทักษ์สตรีได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการนำ ด.ญ.อายุไม่เกิน 18 ปี มาขายบริการที่อาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท แล้วส่งเด็กไปทำการค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่กรมการปกครองมีการสืบสวนหาข่าวและวางแผนติดต่อล่อซื้อบริการทางเพศ ในสถานบริการวิคตอเรีย ซีเครท เข้าจับกุมพบมีหญิงให้บริการ 97 คน มีหญิงบริการเป็นต่างด้าวถูกขังในห้องชั้น 4 อีก 16 คน รวม 113 คน พบถุงยางอนามัยในห้องบริการถังขยะด้านหน้าสถานบริการ เชื่อว่าจำเลยทั้ง 6 รู้ว่าผู้เสียหายเป็นหญิงชาวเมียนมา 1 คนอายุไม่เกิน 15 ปี
อีกทั้ง พยานโจทก์ทั้งหมดต่างเบิกความที่เกี่ยวข้องและรู้เห็นจริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสถานบริการอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท ให้หญิงบริการร่วมประเวณีกับลูกค้า การกระทำของจำเลยอยู่ในลักษณะตัวการร่วมโดยแบ่งหน้าที่กันทำ และการกระทำที่นำผู้เสียหายชาวเมียนมาไปค้าประเวณีที่ประเทศมาเลเซีย จึงเข้าลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ
ศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1-6 มีความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 282 วรรคสาม , พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) , 10 วรรคหนึ่ง , 52 วรรคสาม , พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม โดยจำเลยที่ 2-5 ก็ยังมีความผิด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 วรรคสามด้วย , จำเลยที่ 1 ก็มีความผิด พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 6 ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1)-(4),25 การกระทำของจำเลยที่ 1-6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ให้จำคุก จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 6 เดือน ฐานร่วมกัน เข้าพักอาศัย หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าว เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย และให้จำคุก จำเลยที่ 1,2,3,4,6 คนละ 12 ปี กับปรับจำเลยที่ 5 เป็นเงิน 1 ล้านบาท ฐานค้ามนุษย์ โดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำแก่บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด กับจำคุกจำเลยที่ 2,3,4 คนละ 12 ปี และปรับจำเลยที่ 5 เป็นเงิน 300,000 บาท ฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณีผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณี ในสถานการณ์ค้าที่มีเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีทำการค้าประเวณี ส่วน จำเลยที่ 6 จำคุกกำหนด 4 ปี ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
รวมพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี 6 เดือน และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญา หมายเลขดำ คม.17/2561 ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2,3,4 ให้จำคุก คนละ 24 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,300,000 บาท และจำเลยที่ 6 รวมจำคุกมีกำหนด 16 ปี
ขณะที่ตามทางนำสืบของจำเลยทั้ง 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงเห็นควรลดโทษให้ คนละ 1 ใน 3 จึงคงจำคุก จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 ปี 4 เดือน ,จำเลยที่ 2,3,4 คงจำคุกคนละ 16 ปี , ปรับจำเลยที่ 5 เป็นเงิน 866,666 บาท , จำเลยที่ 6 จำคุก 10 ปี 8 เดือน และให้จำเลยที่ 1-6 ร่วมกันชดใช้เงิน ให้ผู้เสียหายด้วย รวมเป็นเงิน 1,812,805 บาท
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 6 ได้ ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา แต่ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวดังกล่าวให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งประกันต่อไปว่าจะให้หรือไม่ให้ดังนั้นวันนี้ในส่วนของจำเลยที่ 6 จึงต้องเข้าเรือนจำก่อน
สำหรับการอ่านคำพิพากษาในวันนี้ เนื่องจากยังคงอยู่ในสถาการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่ได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์วันนี้ ได้อ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์สำหรับกลุ่มจำเลยที่ 1,2,3 ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำคลองเปรม