วันนี้ (12 พ.ค.2563) นางสุทธิพร เทรูยา รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล สถาบันบำราศนราดูร เปิดเผยถึงการดำเนินการของพยาบาลในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยระบุว่า เนื่องจากสถาบันบำราศนราดูรเป็นหน่วยงานหลักในการรับผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่จึงได้มีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ
ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เตรียมทักษะในการใช้เครื่องมือรักษาผู้ป่วยหนัก หรือการรับมือกับผู้ป่วย COVID-19 ทั้งยังเตรียมร่างกายบุคลากรให้แข็งแรงควบคุมกับการเตรียมจิตใจให้เข้มแข็งและพร้อมรับผู้ป่วยอยู่เสมอ
นางสุทธิพร ระบุว่า ระยะแรกในการรับผู้ป่วย COVID-19 นั้น เป็นการรับผู้ป่วยใน โดยหลังมีการรายงานว่าพบผู้ป่วยเป็นชาวต่างชาติที่สนามบิน พยาบาลจำเป็นต้องคิดและวางแผนตั้งแต่ต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรตั้งแต่การไปรับผู้ป่วยที่สนามบินเพื่อให้มาถึงโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย
ขณะนั้นยังไม่ทราบว่า เป็นโรคติดต่อสายพันธุ์ใด แต่พยาบาลได้ใส่ชุดป้องกันขั้นสูงสุดไปรับผู้ป่วย และเตรียมความพร้อมในโรงพยาบาลรองรับอย่างเข้มข้น
การทำงานของพยาบาล สถาบันบำราศนราดูรนั้น จะประเมินสถานการณ์และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เนื่องจากต้องยึดตามสถานการณ์การระบาด โดยยึดหลัก 2 ข้อ คือ ผู้ป่วยต้องปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อของผู้ป่วยสู่ภายนอก และพยาบาลจะต้องไม่ป่วย ไม่นำเชื้อไปแพร่ต่อผู้ป่วยคนอื่นๆ
อุปกรณ์ต้องพร้อม ปรับตัวรับผู้ป่วยต่างชาติ
นางสุทธิพร ระบุว่า เมื่อรับผู้ป่วยมาแล้ว มีการแยกใช้ลิฟต์เฉพาะผู้ป่วยและจัดให้พักรักษาตัวแยกตึก โดยกรณีรับครั้งแรกเป็นผู้ป่วยที่รู้สึกตัวดี แต่ปัญหาที่พบ คือ COVID-19 เป็นโรคใหม่ อีกทั้งผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวนานเป็นสัปดาห์ และมีปัญหาด้านการสื่อสาร จึงวิเคราะห์และปรับการดูแล โดยหาล่ามมาช่วยพูดคุยเพื่อแจ้งข้อมูล
นอกจากนี้ ผู้ป่วยในจะมีความกังวลว่า เมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน เมื่อไหร่ผลห้องปฏิบัติการจะออก ส่วนผู้ป่วยต่างชาติก็มีความลำบากแตกต่างกัน เช่น อาหารไม่อร่อย ไม่ถูกปาก พยาบาลก็ต้องสื่อสารทุกขั้นตอน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการเตรียมชุดป้องกันร่างกายให้พยาบาลและแพทย์อย่างเพียงพอ
ต้องคำนวณว่า 1 วันใช้อุปกรณ์อะไร เท่าไหร่ แต่เมื่อมีการระบาดต่อเนื่อง ก็ต้องปรับการจัดเตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอในการใช้งานนาน 3 เดือน
เมื่อถึงช่วงพีคเดือน มี.ค. ก็ต้องเริ่มปรับแผนอีกครั้ง เมื่อมีผู้ป่วยนอกจำนวนมากขึ้น โดยเข้ามารับบริการถึงวันละประมาณ 600 คน พยาบาลจึงต้องแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตระหนก และกลุ่มเสี่ยงเข้าเกณฑ์ ตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อแยกการตรวจคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.จนถึงขณะนี้สถาบันบำราศนราดูร มีผู้เข้ารับบริการ 14,327 คน ผู้สงสัยติดเชื้อ 5,062 คน ผู้ป่วยยืนยัน 214 คน รักษาหาย 210 คน เสียชีวิต 4 คน นอกจากอัตราการรักษาหายที่มีจำนวนมากแล้ว อัตราติดเชื้อของบุคลากรในสถาบันบำราศนราดูรยังเป็นศูนย์อีกด้วย
พยาบาลติดเชื้อ COVID-19 40% ของบุคลากรการแพทย์
ดร.ธีรพร สถิรอังกูร ที่ปรึกษาระดับกระทรวง ด้านการพยาบาล ระบุว่า จากข้อมูลบุคลากรทางสาธารณสุขติดเชื้อ COVID-19 รวมสะสม 103 คน โดยร้อยละ 40% เป็นพยาบาล และในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งติดเชื้อจากการบริการพยาบาล
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ใช้บริการไม่เปิดเผยประวัติเสี่ยง และอีกส่วนหนึ่งติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ติดเชื้อนั้นเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขเอง
ใน 2-3 สัปดาห์ล่าสุด จะไม่พบผู้ติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ เพราะประชาชนให้ความร่วมมือในการเปิดเผยประวัติการเดินทางและความเสี่ยงต่างๆ
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารความร่วมมือของพยาบาลในภาวะวิกฤต COVID-19 ในแต่ละเขตสุขภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและกำหนดทิศทางต่างๆ
สำหรับการกำหนดทิศทางในการดูแลผู้ป่วย จะขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของพยาบาล โดยแบ่งเป็น ผู้ป่วยอาการรุนแรงมาก จะดูแลโดยพยาบาลผู้ป่วยหนัก วิสัญญีพยาบาล และพยาบาลอายุรกรรม
ส่วนผู้ป่วยอาการปานกลาง และผู้ปาวยอาการรุนแรงน้อย จะมีพยาบาลอายุรกรรม และพยาบาลสาขาอื่นๆ ดูแล ขณะที่ผู้มารับบริการคัดกรองการติดเชื้อ COVID-19 จะดูแลโดยพยาบาลผู้ป่วยนอกและพยาบาลสาขาอื่นๆ
ขณะที่ผู้สงสัยติดเชื้อหรือเข้าเกณฑ์ PUI รวมถึงกลุ่ม Quarantine ที่อยู่นอกโรงพยาบาลหรือในชุมชน จะดูแลโดยพยาบาลชุมชน พยาบาลชีวอนามัย และพยาบาลจิตเวช
นอกจากนี้ ยังมีพยาบาลป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งจะดูแลระบบเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรในโรงพยาบาล และดูแลป้องกันประชาชนด้วย