รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 29 วรรค 2 ระบุว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
ประโยคสุดท้ายของมาตรานี้ ... ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ... แต่ผู้ที่อยู่ในเรือนจำมากมายที่อยู่ระหว่างรอคำพิพากษา ศาลให้ประกันตัวได้ แต่วงเงินประกันค่อนข้างสูง ทำให้พวกเขาไม่มีเงินประกัน
ทั้งที่จริงๆ ควรได้ประโยชน์จากกฎหมาย คือ แม้ประกันไม่ได้ ก็ไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนนักโทษ แต่เรากลับเห็นเขาถูกนำตัวไปขังในเรือนจำ ใส่ชุดเหมือนนักโทษ ตัดผมทรงเดียวกันกับนักโทษ ใส่กุญแจเท้า ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาจนถูกสั่งฟ้องและไม่มีเงินประกันตัว ก็อาจจะถูกปฏิบัติเหมือนเป็นนักโทษ ถูกนำตัวไปขังในเรือนจำได้เช่นเดียวกัน
“ไม่มีใครควรติดคุกเพราะจน” เป็นโครงการที่ถูกผลักดันโดย รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ที่กล่าวอ้างถึงข้อความข้างต้นนี้ ในเวทีประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum ในหัวข้อ Living with COVID-19 ซึ่งจัดโดย “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา พูดคุยกันในตอน “รายงาน Global Prison Trends 2020 และวิถีใหม่การลงโทษทางอาญาในกระแส COVID-19”
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า หากแยกผู้ต้องขังออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่สมควรจะติดคุก เพราะทำความผิดจริง มีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อสังคม และไม่มีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็ต้องนำตัวแยกออกไปจากสังคมไปอยู่ในเรือนจำ
“เรือนจำ” พื้นที่แคบ เว้นระยะห่างทางสังคมไม่ได้
แต่มีอีกกลุ่มหนึ่ง คือ “คนที่ไม่ควรติดคุก กลับอยู่ในคุกจำนวนมาก” พร้อมเสนอตัวเลข ผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมดของประเทศไทย จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2563 มีอยู่ประมาณ 3.77 แสนคน ในขณะที่เรือนจำมีศักยภาพรองรับตามมาตรฐานแบบไทยๆ ที่ประมาณ 2 แสนคน หรือมีพื้นที่ประมาณคนละ 1 ตารางเมตร ในเรือนจำเท่านั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างแคบมาก และถือเป็นพื้นที่เสี่ยงหากมีผู้ต้องขังติดเชื้อ COVID-19 เพราะไม่สามารถใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในเรือนจำได้
จากข้อมูลก่อนหน้านี้ เคยมีบางช่วงที่ผู้ต้องขัง 30 % หรือประมาณ 1 แสนคน เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งหมายถึง ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ก็ถูกขังไว้ก่อนแล้ว
วงเงินประกันสูง ผู้ต้องขังได้ประกันตัวก็ไม่มีจ่าย
และเมื่อดูข้อมูลลงลึกไปกว่านั้น จะพบว่า จากจำนวนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี 1 แสนคน มีถึง 65-70 % ที่ถูกจำคุก ทั้งที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว แต่ไม่มีหลักทรัพย์พอที่จะมาประกันตัว จึงต้องถูกขังแทน เพราะวงเงินประกัน ถูกกำหนดไว้เป็นวงเงินที่สูงมาก ซึ่งแม้จะเข้าใจดีว่า การกำหนดวงเงินประกันไว้สูง เพื่อป้องกันปัญหาผู้ต้องหาหลบหนี แต่ก็ต้องยอมรับว่า หลักการนี้ทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมในทางปฏิบัติ
“การกำหนดวงเงินประกันตัว ไม่มีระบุอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตราไหนเลย แต่ถูกประกาศไว้ใน ประกาศของประธานศาลฎีกา (นานมาแล้ว) เช่น คดีที่มีโทษประหารชีวิต วงเงินประกัน 8 แสนบาท คดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต วงเงินประกัน 6 แสนบาท คดีที่มีโทษจำคุกต่ำไม่มีโทษอื่นที่หนักกว่าจำคุก ให้กำหนดวงเงินประกันตามโทษจำคุกปีละ 2 หมื่นบาท
ผมถามว่า ในประเทศไทยเรา มีกี่คนที่มีเงิน 8 แสน 6 แสน 4 แสนบาท หมายความว่า ในความผิดแบบเดียวกัน คนมีเงินมาก ก็สามารถประกันตัวออกไปสู้คดีนอกคุกได้ แต่คนไม่มีเงิน ติดคุกไปแล้ว ถึงท้ายที่สุดจะถูกตัดสินว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ถูกจำคุกไปแล้ว ทั้งที่เขาอาจมีพ่อแม่ที่แก่เฒ่า หรือมีลูกเล็กที่ต้องดูแลก็ได้”
คนจำนวนมากยอมถูกจำคุกแทนจ่ายค่าปรับ
รศ.ปริญญา ยังกล่าวถึงอีกปัญหาหนึ่ง คือ คนที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินจ่าย “ค่าปรับ” โดยระบุว่า มาจาก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ที่ระบุว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับและยังไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ หรือ มิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ”
หมายความว่า คนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับจะต้องติดคุก แม้ว่าจะทำความผิดแบบเดียวกับคนที่มีเงินจ่ายค่าปรับ และถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายนี้ในปี 2559 โดยเพิ่มมาตรา 30/1 ให้ผู้ที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ สามารถขอศาลรับโทษด้วยวิธีการ “บริการสังคมหรือบริการสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับได้” หรือ ศาลเองก็สามารถบอกให้ทำงานบริการสังคมแทนได้ แต่ในทางปฏิบัติถือว่าถูกใช้น้อยมาก
โดยคาดว่าที่ผ่านมาผู้พิพากษาส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่ทราบว่ากฎหมายข้อนี้ ปรับปรุงแล้ว จึงไม่ได้แจ้งสิทธินี้กับผู้ต้องหา แต่ก็ทำให้เห็นว่า การใช้โทษบริการสังคมแทนค่าปรับยังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล จึงเสนอให้ควรกำหนดเป็นมาตรฐานไปเลยว่า หากใครไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ก็ให้ไปทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ไม่ใช่เอาไปขังในเรือนจำ และไม่ต้องใช้ดุลยพินิจของศาล
เสพยาเสพติด ก็ถูกติดคุก แทนการรักษา
รศ.ปริญญา สรุปว่า “คุก ควรมีไว้ขัง อาชญากร” ดังนั้น คนที่ไม่ใช่อาชญากร ก็ไม่ควรถูกนำไปขังไว้ในคุก โดยเฉพาะเรือนจำในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกขังมาจากคดียาเสพติด ซึ่งในหลายประเทศเช่น เนเธอร์แลนด์ ถือว่า ผู้เสพยา เป็นปัญหาทางด้านสุขภาพและต้องแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางสาธารณสุข ผู้ต้องขังในคดียาเสพติดจึงมีเฉพาะผู้ค้ายารายใหญ่เท่านั้น
ส่วนประเทศไทยใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ซึ่งมีฤทธิ์อ่อนกว่าเฮโรอีนมาก แต่กลับยิ่งมีราคาแพงจากการปราบปรามที่เข้มข้น จึงทำให้มีการลักลอบจำหน่ายกันมากเพราะได้เงินมาก และยิ่งทำให้ ผู้เสพที่ไม่มีเงินซื้อยาบ้า ต้องกลายไปเป็นผู้จำหน่ายยารายย่อย
หน่วยงานรัฐไม่ได้บูรณาการในการทำงาน
ดังนั้นจึงเห็นว่า ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ หากจะแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาจากวิกฤต COVID-19 จะต้องย้อนกลับไปดูที่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทาง คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งเป็นผู้จับกุม ส่งฟ้องและตัดสินว่า “ใคร” เป็นคนที่จะต้องถูกส่งเข้ามาอยู่ในเรือนจำ แต่ก็พบปัญหาว่า ทั้ง 3 หน่วยงาน ไม่ได้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ทำให้ไม่มีหน่วยงานใดเลยในประเทศไทยที่จะบูรณาการในภาพรวม เพื่อประเมินผลการทำงานในกระบวนการยุติธรรม ว่าการใช้กฎหมายแบบนี้ จับกุมแบบนี้ ตัดสินแบบนี้ ได้ผลเป็นอย่างไร
วันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก อดีตอธิบดีกรมคุมประพฤติ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายถึงสาเหตุที่ไทยไม่สามารถปฏิรูปการลงโทษ โดยลดการใช้โทษจำคุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกฎหมายกำหนดประเภทของโทษทางอาญา แค่ 5 ประเภท คือ โทษประหารชีวิต โทษจำคุก โทษกักขัง โทษปรับ และโทษริบทรัพย์สิน และวิธีการลงโทษที่ถูกใช้มากที่สุด ก็คือ “โทษจำคุก”
ระบุปัจจุบันทางเลือกในการลงโทษน้อยลง
วันชัย อธิบายว่า โทษประหารชีวิต ปัจจุบันแทบจะไม่ได้ถูกใช้แล้ว โทษกักขังที่ผ่านมาแม้จะมีสถานที่กักขัง แต่ก็ถูกใช้น้อยมาก ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกลงโทษกักขังเพียง 1,700 คนเท่านั้น ส่วนโทษปรับ กฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2500 ให้จ่ายค่าปรับ 2,000 บาทแทนการจำคุก 1 ปี ซึ่งในขณะนั้นเงิน 2,000 บาท มีค่าเท่ากับราคาทอง 5 บาท
แต่ปัจจุบันแม้จะเพิ่งปรับปรุงกฎหมายเพิ่มโทษปรับเป็น 10 เท่าจากเดิม แต่เงิน 20,000 บาทในปัจจุบัน มีค่าเท่าราคาทองเพียง 1 บาท ดังนั้นโทษปรับจึงแทบไม่มีความหมาย และโทษริบทรัพย์สินในปัจจุบันนี้ก็แทบไม่ได้ใช้เลย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลจึงมีทางเลือกในการลงโทษน้อย เพราะมาตรการอื่นที่ไม่ใช่การจำคุกยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ดังนั้นการลงโทษด้วยวิธีการจำคุก จึงถูกใช้มาก หรือหากเลือกใช้วิธีรอลงอาญา ก็กลายเป็นว่าแทบจะไม่ได้รับโทษเลย จนกลายเป็นปัญหาไม่ว่าจะทำความผิดรุนแรงหรือไม่ ก็จะถูกตัดสินส่งไปที่เรือนจำ
โทษ “ทำงานบริการสังคม” ในไทย น้อยเกินไป
จึงมีความพยายามที่จะใช้วิธีการลงโทษด้วยการให้ “ทำงานบริการสังคม” เข้ามาเพิ่มเติม แต่ในประเทศไทย ยังกำหนดโทษทำงานบริการสังคมไว้น้อยเกินไป เช่นลงโทษให้ทำงานบริการสังคมแค่ 30-40 ชั่วโมง ทำให้สังคมไม่ยอมรับ ต่างจากอังกฤษ ซึ่งศาลสามารถสั่งให้ทำงานบริการสังคมได้ถึง 400 ชั่วโมง ถ้าไม่ทำจึงต้องไปรับโทษจำคุกแทน” จึงเสนอว่า ควรมีทางเลือกให้ศาลเพิ่มขึ้น ด้วยการให้อำนาจสั่งลงโทษบริการสังคมได้ถึง 500 ชั่วโมง
“มีคดีหนึ่งผู้ต้องหาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำร้ายภรรยาเสียชีวิต แต่มีลูกเล็ก 2 คน ต้องดูแล ศาลจึงไม่ต้องการให้รับโทษจำคุก โดยให้ไปทำงานบริการสังคม 40 ชั่วโมงแทน ซึ่งน้อยเกินไป ทำให้กลุ่มสิทธิสตรีรับไม่ได้ แต่ถ้าศาลสามารถออกคำสั่งให้ไปทำงานบริการสังคมได้ถึง 400 ชั่วโมง ก็อาจทำให้สังคมยอมรับการลงโทษด้วยวิธีนี้ได้มากขึ้น”
เมื่อการลงโทษทางอาญาส่วนมากคือการจำคุก และเรือนจำไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธผู้ต้องขังถ้ามีหมายศาล จึงทำให้จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำของประเทศไทยสูงถึง 3.77 แสนคน เกินจากศักยภาพรองรับของเรือนจำประมาณ 60-70 % และมีกำลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดูแลเพียง 1.1-1.2 หมื่นคนเท่านั้น
สมัยที่ผมเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีงบประมาณปีละ 7 พันล้านบาท ต้องใช้งบเกือบทั้งหมดไปกับค่าอาหารผู้ต้องขังซึ่งมีจำนวนมาก เหลืองบประมาณเพียง 1 % เท่านั้น ที่สามารถนำไปใช้ในการอบรมพัฒนาฟื้นฟูผู้ต้องขัง ให้กลับสู่สังคมได้
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มาตรการเว้นระยะห่าง จึงทำได้ยากในเรือนจำ เพราะข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และความแออัดของผู้ต้องขัง แต่กรมราชทัณฑ์ก็มีมาตรการ Lockdown มาป้องกันแทน คือ ไม่มีการเข้าออก งดการเยี่ยม ไม่มีกิจกรรมที่เคยทำ แต่ก็ทำให้ผู้ต้องขังเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นได้
และก็ยังมีบางกิจกรรมที่มีโอกาสที่จะติดเชื้อจากภายนอกเข้ามา ดังนั้นต้องมองว่า เรือนจำไม่ใช่ที่ที่จะส่งผู้ต้องขังเข้ามาเรื่อยๆ แต่ต้องเป็นคนที่จำเป็นต้องเข้าเรือนจำจริงๆ เท่านั้น ส่วนผู้กระทำผิดคนอื่นต้องมีมาตรการลงโทษอื่นมาทดแทน
แนะลดนักโทษ โทษไม่หนักให้กักตัวที่บ้าน ไม่ใช่เรือนจำ
วันชัยจึงเสนอแนวทางอื่นๆ นอกจากการเพิ่มโทษการบริการสังคม เช่นการแก้ไขระบบไกล่เกลี่ยที่สามารถทำให้คดีจำนวนหนึ่งไม่ต้องขึ้นมาสู่ศาล การใช้มาตรการกักตัวที่บ้าน เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยี EM (กำไลข้อเท้า) เข้ามาช่วย
รวมถึง “การบังคับบำบัด” เช่น คดีเมาสุรา ทำร้ายร่างกาย ความรุนแรงในครอบครัว ถ้าผู้กระทำผิดไม่ยอมไปบำบัดก็ต้องถูกลงโทษ ส่วนกลุ่มผู้ต้องขังที่โทษไม่หนัก ก็สามารถปล่อยก่อนกำหนดได้ หรือถ้าไม่ต้องการให้ปล่อยโดยทันที ก็ใช้วิธีกักขังต่อที่บ้าน หรือทำงานบริการสังคม
เช่นเดียวกับการกักตัวในช่วง COVID-19 โดยเปลี่ยนการติดตามจาก อสม. เป็น อบต. แทน ดังนั้นประเด็นเรื่องการลงโทษหรือปล่อยผู้ต้องขัง ถ้าสามารถทำงานร่วมกับชุมชน และสร้างความเข้าใจกับชุมชนได้ ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการปฏิรูปการลงโทษเพื่อลดการใช้โทษจำคุก
นโยบายเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ลดนักโทษได้
ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอดีตอธิบดีกรมคุมประพฤติ เล่าถึงคำว่า “นักโทษล้นคุก” ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งขณะนั้นมีนักโทษอยู่ 7.5 หมื่นคน อธิบดีราชทัณฑ์ในขณะนั้น ได้เรียกร้องให้แก้ปัญหา ได้จัดสัมมนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลจากการสัมมนาในครั้งนั้น นำเอาการควบคุมความประพฤติของผู้ใหญ่มาทดลองใช้ ในปีพ.ศ.2522 แก่ผู้กระทำผิดในเขตกรุงเทพมหานคร และพัฒนามาจนเป็นกรมคุมประพฤติ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ต้องขังลดลงกลับเพิ่มขึ้นโดยตลอด
จนในปี 2540 จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนชื่อ “ยาม้า ยาขยัน” มาเป็น “ยาบ้า” จนทำให้มีผู้ต้องขังเพิ่มเป็น 2.6 แสนคน
ในปี 2545 เมื่อใช้ พ.ร.บ.ฟื้นฟูผู้สมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ใช้หลักการ “เปลี่ยนจากผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” ทำให้จำนวนผู้ต้องขังลดลงเหลือ 1.6 แสนคน ถือเป็นนโยบายทางอาญาที่แก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้อย่างเห็นผล แต่หลังจากนั้นจำนวนผู้ต้องขังก็ยังเพิ่มขึ้น
ส่วนผลกระทบจากปัญหา COVID-19 ดร.นัทธี อธิบายว่า ที่ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายปล่อยตัวผู้ต้องขัง เพราะอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดเข้าไปสู่ในเรือนจำได้ดี มีผู้ต้องขังติดเชื้อเพียง 1 คน ที่เรือนจำจังหวัดราชบุรี ส่วนผู้คุมติดเชื้อ 2 คนเท่านั้น
เตรียมความพร้อมไม่ดี นักโทษก็กลับเข้าคุกอีก
แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ ทุกๆ ปี จะมีผู้ต้องขังประมาณ 1 แสนคนถูกปล่อยตัวออกมา แต่ปีนี้พวกเขาจะต้องออกมาเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งจะทำให้มีปัญหาการหางานทำซึ่งยากอยู่แล้ว กลับยากยิ่งขึ้นไปอีก หรือแม้แต่อาชีพ “นวดแผนไทย” ที่เป็นที่นิยมในการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง ก็ต้องปิดร้านไปหมด
ดังนั้น ปัญหาหลักของกรมราชทัณฑ์ คือ ทำอย่างไรจะเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยได้ดี เพราะหากเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยไม่ดี ผู้ต้องขังก็จะกลับสู่เรือนจำอีกครั้ง โดยที่ผ่านมา ก็มีผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัว 1 ใน 3 กลับเข้ามาอีกครั้งอยู่แล้ว ซึ่งหากปล่อยผุ้ต้องขังออกมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ก็อาจจะมีคนที่ต้องกลับเข้าสู่เรือนจำมากขึ้นกว่าเดิม
ระบุทั่วโลกมีผู้ถูกขังรอพิจารณาคดีมากกว่า 3 ล้าน
ในการประชุมครั้งนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ยังเปิดตัวรายงานสถานการณ์เรือนจำโลก ปี 2563 หรือ Global Prison Trends 2020 ซึ่ง TIJ ร่วมกับ Penal Reform International (PRI) จัดทำขี้น
Ms.Olivia Rope, Director of Policy and International Advocacy, Penal Reform International รายงานระบุถึงสถานการณ์ในเรือนจำทั่วโลกว่า มีผู้ต้องขังรวมกันประมาณ 11 ล้านคน 80 % เป็นผู้ต้องขังชาย และส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่ม ในขณะที่จำนวนผู้ต้องขังหญิงยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนผู้ที่ถูกขังทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีทั่วโลก มีจำนวนรวมกันมากกว่า 3 ล้านคน และอย่างน้อยใน 46 ประเทศ มีจำนวนผู้ต้องขังกลุ่มนี้ ซึ่งควรถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ มากกว่าผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาว่ากระทำผิดแล้วเสียอีก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในการลดสัดส่วนผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีตามที่ได้ระบุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDG-16)
สถิติล่าสุดจาก World Prison Brief ยังพบข้อมูลว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีเพิ่มสูงขึ้นถึง 30 % ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่เร็วกว่าในประชากรผู้ต้องขังทั่วไป
โทษจำคุกกว่า 50 % มาจากความผิดไม่รุนแรง
ในรายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึงประเภทคดีของผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ โดยชี้ให้เห็นว่าโทษจำคุกที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและประสิทธิภาพน้อย ถูกนำมาใช้ในคดีความผิดที่ไม่รุนแรงโดยผู้ต้องขังอย่างน้อย 50 % กระทำความผิดที่ไม่รุนแรง เพราะโทษจำคุกถูกนำมาใช้เป็นมาตรการตอบสนองอัตโนมัติต่ออาชญากรรมมากขึ้น
ตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นมา คือ นโยบายปราบปรามยาเสพติด เพราะปัจจุบันมีผู้ต้องขังมากกว่า 2 ล้านคน ต้องโทษคดียาเสพติด แต่จากสถิติพบว่า มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดถึง 83 % ที่ถูกจำคุก เพราะครอบครองยาเสพติดเพื่อใช้เสพ จึงเห็นได้ว่าประเทศที่เลือกใช้นโยบายยาเสพติดที่รุนแรง โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้ ผู้จำหน่ายหรือผู้ลักลอบขนยาเสพติดรายย่อย กลับไม่สามารถมุ่งไปสู่การสร้างโลกที่ปลอดยาเสพติดตามที่กล่าวอ้างได้จริง และในทางกลับกัน นโยบายลักษณะนี้กลับพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่ยากจน และเปราะบางที่สุดในสังคม และผลักไสให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนชายขอบมากยิ่งขึ้น
ความแออัดในเรือนจำเพิ่มความเสี่ยง COVID-19 ระบาด
ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพ และการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเนื้อหาในรายงาน Global Prison Trends 2020 โดยระบุว่า มีถึง 122 ประเทศทั่วโลกที่ประสบปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก เป็นพื้นที่ปิด แออัด ทำให้ “คุก” กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพราะไม่สามารถใช้มาตรการเว้นระยะห่างได้
และผู้ต้องขังที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็มักมีปัญหาทางสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ทั้งจากการใช้ยาเสพติด เป็นโรคติดต่ออื่นๆ โดยปัจจุบัน พบ COVID-19 ระบาดในเรือนจำแล้วในหลายประเทศ โดยจีนและอิหร่านเป็น 2 ประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำ
ส่วนสหรัฐอเมริกา มีผู้ต้องขังติดเชื้อ 2.7 พันคน เสียชีวิตแล้ว 42 คน เปรู ติดเชื้อ 600 คน เสียชีวิต 15 คน และที่อังกฤษ สเปน อิหร่าน ฝรั่งเศส ก็มีผู้ต้องขังเสียชีวิตจาก COVID-19 และที่น่าเป็นห่วงมาก ก็คือ ในเรือนจำมีทั้งผู้สูงอายุ หญิงที่ตั้งครรภ์ และความเครียดจากการกลัวติดเชื้อ เพราะความแออัดในเรือนจำ ยังอาจเป็นภัยต่อผู้คุมด้วย เพราะมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่เหตุจราจล เช่นที่ อิตาลี เปรู โคลอมเบีย และอินโดนีเซีย และมีหลายประเทศ หันมาให้มาตรการปล่อยตัวชั่วคราว หรือปล่อยตัวผู้ต้องขัง ก่อนกำหนดกันแล้ว เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไซปรัส โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และเยอรมัน
เรือนจำควรเป็นมาตรการสุดท้ายในการลงโทษ
ชลธิช เสนอแนวทาง New Normal ในเรือนจำของประเทศไทย โดยระบุว่า แนวทางที่ควรใช้ ไม่ใช่การเพิ่มหรือขยายพื้นที่เรือนจำ แต่ควรคิดถึงหลักการ “ลดการใช้เรือนจำ” ด้วยแนวคิดว่า “เรือนจำไม่ควรเป็นมาตรการหลักของการลงโทษ แต่ควรถูกใช้เป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อมาตรการอื่นใช้ไม่ได้ผลแล้วจริงๆ” เพราะเป้าหมายของการลงโทษ คือ ไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ
ในเบื้องต้นเห็นว่า เมื่อเกิด COVID-19 ขึ้น เริ่มมีการให้ใช้สมาร์ทโฟนในการเยี่ยมผู้ต้องขัง จากเดิมที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้เลย ซึ่งช่วยลดเงื่อนไขการเกิดจราจลได้ และยังเห็นว่า หากจะปฏิรูปเรือนจำ ควรปฏิรูปการคุมประพฤติไปพร้อมๆกัน ด้วยการใช้งบประมาณ ไปกับการพัฒนาระบบคุมประพฤติ เพราะจะช่วยเพิ่มทางเลือกที่จะลดโทษการจำคุกได้ เช่น กลุ่มที่มีโทษจำคุกระยะสั้น 3-6 เดือน ก็สามารถควบคุมโดยใช้ชุมชนได้ ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพให้ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำได้ดีกว่าเรือนจำ
แนะทบทวนการลงโทษว่าควรจำคุกหรือไม่
ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย สรุปข้อเสนอที่ได้จากการประชุม ว่า สถานการณ์ของเรือนจำในประเทศไทยในสถานการณ์ COVID-19 เปรียบได้กับกำลังนั่งทับระเบิดเวลา 2 ลูก แม้ว่าจะสามารถสกัดกั้นการเข้าไปแพร่ระบาดในเรือนจำได้ แต่ผู้ต้องขังก็มีความเครียดมาก จนอาจเป็นระเบิดเวลาลูกที่ 1
ส่วนระเบิดเวลาลูกที่ 2 คือ โอกาสที่ผู้ต้องขังที่กำลังจะถูกปล่อยตัว อาจกลับมาในเรือนจำมากกว่าเดิม เพราะไม่มีงานทำ หางานยากขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้เราจะต้องกลับมาดูว่า จะต้องปฏิรูปนโยบายเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาอย่างไร โดยเริ่มจากการที่ต้องพิจารณาว่า วิธีการลงโทษปัจจุบันที่ใช้อยู่ คือ การนำคนจำนวนมาก รวมทั้งที่มีความผิดเล็กน้อยเข้ามาอยู่ในเรือนจำ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงหรือไม่
คนอันตรายที่ควรเข้าไปอยู่ในเรือนจำคือใคร
ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จึงเห็นว่า มีหลายประเด็นที่จำเป็นต้องทบทวน ประเด็นแรกต้องทบทวนว่า คนที่เป็นอันตรายต่อสังคมที่แท้จริง ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ คือ “ใคร”
ประเด็นที่สอง คดียาเสพติด ผู้เสพยา ผู้ค้ารายย่อยที่พัฒนามาจากการเป็นผู้เสพ เป็นผู้ต้องขังกลุ่มใหญ่ที่สุดในเรือนจำ ควรหันมาใช้นโยบายปกครองร่วมกับทางสาธารณสุขอย่างจริงจัง คือ ผู้เสพเป็นผู้ป่วย
ประเด็นที่สามคือทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การจำคุก ซึ่งต้องรีบแก้กฎหมาย ต้องสร้างเครื่องมือให้ศาลมีความมั่นใจว่าระบบการลงโทษอื่นๆ ทั้งการรายงานตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ บริการสังคมทำจริง การควบคุมตัวที่บ้านตรวจสอบได้จริง ซึ่งถ้าศาลมั่นใจ ก็จะกล้าตัดสินลงโทษด้วยมาตรการเหล่านี้แทนการจำคุก และที่สำคัญคือต้องทำให้สาธารณชนมั่นใจด้วยว่า การลงโทษเช่นนี้ ไม่ใช่การปล่อยตัวไป แต่มีระบบที่ตรวจสอบได้ว่า ถูกควบคุมตัวที่บ้านจริง ทำงานบริการสังคมจริง ตรวจสอบการรายงานตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ได้จริง ซึ่งหลายหน่วยงานต้องทำงานแบบบูรณาการกันจึงจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง