วันนี้ (16 พ.ค.2563) เพจคุยกับอธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่าที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยการแก้ไขมาตรา 7 ที่กำหนดเกี่ยวกับไม้หวงห้ามที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวล กฎหมายที่ดิน หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประ กาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่า ไม่เป็นไม้หวงห้าม สามารถปลูกและตัดขายได้ในอนาคตอย่างถูกกฎหมาย โดยปลดล็อกไม้หวงห้าม จำนวน 158 ชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง และไม้หายาก จำนวน 13 ชนิด เช่น กระเบา มะแข่น จันทน์หอม ตีนเป็ดแดง เป็นต้น
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลปลดล็อกแก้ไขกฎหมาย จากไม้หวงห้ามเป็นไม้มีค่า ปัจจุบันประชาชนปลูกไม้มีค่าและลงทะเบียนกับกรมป่าไม้ไปแล้ว 70,874 คน เนื้อที่รวม 1,116, 200 ไร่ คิดเป็นต้นไม้มีค่า 223,240,000 ต้น
ทั้งนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เตรียมเสนอครม.ขอความเห็นชอบ ในการออกเป็นประกาศกระทรวงฯ ปลดล็อก พื้นที่สปก.ซึ่งเป็นประเภทที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปลูกไม้มีค่าได้ ในที่ดิน สปก. สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ให้ครัวเรือน
นอกจากนี้มีรายได้ ยังช่วยแก้ปัญหาการบุกรุกและลักลอบตัดไม้ และเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างความชุ่มชื้น ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง คาดว่าจะมีคนสนใจปลูกไม้มีค่าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านไร่
นางนันทนา บุณยานันต์ โฆษกกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ พร้อมให้การสนับสนุนประชาชนที่ปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ร่วมลงทะเบียนไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ (E-Tree) ผ่านเว็บไซต์ กรมป่าไม้ โดยประชาชนจะได้รับประโยชน์ในด้านการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำไม้ และการเคลื่อนย้ายไม้ และในอนาคต ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่อีกต่อไป