ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สถิติฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1-15 พ.ค. กว่า 8,990 คดี

อาชญากรรม
16 พ.ค. 63
18:06
893
Logo Thai PBS
สถิติฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1-15 พ.ค. กว่า 8,990 คดี
เลขาธิการศาลฯ เผยสถิติฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1-15 พ.ค. ยอดปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณากว่า 8,990 คดี แนะประชาชนเคารพกฎหมายและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด แม้จะมีการผ่อนปรน เพื่อไม่ให้ยอดสถิติคดีสูงขึ้น

วันนี้ (16 พ.ค.2563) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยข้อมูลสถิติคดีความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ภายหลังรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. โดยไม่มีความจำเป็น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ภาพรวมสถิติคดีความช่วงครึ่งเดือน พ.ค.

สำหรับภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 1 - 15 พ.ค.2563 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล ดังนี้
กลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง
1. จำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณา ทั้งหมด 8,990 คดี
2. จำนวนคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 8,756 คดี (คิดเป็นร้อยละ 97.40)
3. ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด คือ ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 12,116 คน
4. จังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดในการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 964 คน

กลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว
1. จำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 496 คำร้อง
2. ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม สูงสุด คือ ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 530 คน

กทม.ยังครองแชมป์ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อพิจารณาปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาล ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 พ.ค.2563 มีจำนวนเฉลี่ย 599 คดี/วัน จังหวัดที่ยังพบว่ามีการกระทำผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน คน 964 คน

ยอดคดีสะสมเดือน เม.ย.รวม 17,466 คดี

ขณะที่ยอดคดีสะสมเดือนที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 3 เมษายน - 30 เมษายน 2563) พบว่ากลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 17,466 คดี ปริมาณคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จทั้งหมด 17,039 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.56 ส่วนข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด คือฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีผู้กระทำผิดรวมทั้งหมด จำนวน 23,628 คน

รองลงมา คือพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีผู้กระทำผิดสะสมทั้งหมด จำนวน 316 คน และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีผู้กระทำผิด 38 คน จังหวัดที่กระทำความผิดสูงสุดในฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คือกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,829 คน

กลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว
1. จำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 1,262 คำร้อง
2. ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม สูงสุด คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 1,360 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง