วันนี้ (20 พ.ค.2563) ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์รศ.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ หนึ่งในทีมแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา และน.ส.กนกลักษณ์ ทวีโชติ ผู้บริจาคพลาสมา ซึ่งนำไปสู่การรักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่อาการวิกฤตจนหายป่วยแล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของวงการแพทย์ไทย
ช่วยอะไรคุณหมอได้ก็พร้อมที่จะทำทุกอย่าง
ถ้อยคำเล็กๆ ของน.ส.กนกลักษณ์ ผู้ป่วยคนแรกของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หลังหายป่วยจากโรค เธอได้ดูแลรักษาอย่างดีจากทีมแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และจะตัดสินใจบริจาคพลาสมาให้กับทางโรงพยาบาลเพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 อีกคนที่มีอาการรุนแรงเข้าขั้นวิกฤติจนหายป่วยเป็นปกติ โดยกนกลักษณ์ ได้บริจาคพลาสมาให้โรงพยาบาลจำนวน 600 ซีซี
ด้าน นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อคณะแพทยศาสตร์ม.สงขลานครินทร์ ระบุว่าพลาสมาเป็นส่วนประกอบของเลือด มีสารภูมิคุ้ม กันของร่างกายเพื่อช่วยในการรักษาโรคได้ ดังนั้นพลาสมาของผู้ป่วย จึงมีประโยชน์อย่างมาก เพราะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นเปรียบเสมือนเซรุ่มที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19ได้เป็นอย่างดี
ได้พลาสมารักษาหายป่วย
ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่หายป่วยจากการรักษาด้วยพลาสมามีอาการหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแต่อาการไม่ดีขึ้น
แพทย์จึงใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่หายมาเสริมการรักษาโดยให้พลาสมา 2 ครั้งๆละ 200 ซีซีหลังจากนั้นเพียง 3 วันผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นสามารถหายใจเองได้ก่อนจะหายเป็นปกติจนกลับบ้านได้
ขณะนี้ผู้ที่หายป่วยจาก COVID-19 แจ้งความประสงค์ จะบริจาคพลาสมาแก่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์อีกหลายคน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาผู้ป่วยในอนาคต เพราะพลาสมาสามารถเก็บรักษาได้นานนับปี
ขณะเดียวกันผู้ที่จะบริจาคพลาสมา ได้ต้องผ่านการคัดกรองว่าเป็นผู้ป่วยเป็นโรค ซึ่งได้รับการรักษาหายแล้ว รวมถึงต้องผ่านการตรวจสอบว่ามีภูมิคุ้มกันมากเพียงพอ